ห้ามพลาด "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ครั้งสุดท้ายของปี เช้ามืด 15 ต.ค.นี้ 

14 ต.ค. 2567 | 11:00 น.

ห้ามพลาด ปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ครั้งสุดท้ายของปี 15 ตุลาคมนี้ สังเกตเห็นได้บางพื้นที่ของไทยตั้งแต่เวลา 02:19 - 03:00 น. เหนือ-กลาง-ตะวันตก-อีสานบางส่วน เห็นเป็น "ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์" รับชมสดได้ที่เฟซบุ๊ก NARIT

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ในเวลาประมาณ 02:19 - 03:00 น. (เวลาท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) เมื่อมองจากโลกจะเห็นดวงจันทร์จะค่อย ๆ เคลื่อนมาบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และกลับมาปรากฏอีกครั้ง

หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน ในไทยสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเฉพาะภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับพื้นที่อื่นจะเห็นเป็นปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์" ตลอดคืน

ปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ช่วงก่อนรุ่งเช้าเวลาประมาณ 02:19 - 03:00 น. ประเทศไทย สังเกตเห็นได้เฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับพื้นที่อื่นจะสังเกตเห็นเป็นปรากฏการณ์ ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า

ห้ามพลาด \"ดวงจันทร์บังดาวเสาร์\" ครั้งสุดท้ายของปี เช้ามืด 15 ต.ค.นี้ 

ในวันดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ข้างขึ้น 13 ค่ำ ปรากฏการณ์เริ่มเวลาประมาณ 02:19 น. เมื่อมองจากโลกจะเห็นดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนมาบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์ลับหายไปหลังดวงจันทร์ฝั่งพื้นที่ผิวส่วนมืด และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งฝั่งเสี้ยวสว่าง เวลาประมาณ 03:00 น. (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)   

การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น

ปรากฏการณ์นี้สามารถใช้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ธรรมชาติ "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 01:30 น. เป็นต้นไป