ลุยนโยบาย 'เรียนไป-หาเงินได้' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

13 พ.ย. 2567 | 05:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 05:36 น.

รองนายกฯประเสริฐ นั่งหัวโต๊ะประชุม บอร์ด คกศ. Thailand Zero Dropout ลุยนโยบายดึงเด็กหลุดออกนอกระบบ 1.02 ล้านคน กลับห้องเรียน ปลดล็อกให้เรียนแบบยืดหยุ่น-มีรายได้ระหว่างเรียนพร้อมให้ทุนการศึกษาป้องกันหลุดซ้ำ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ บอร์ด คกศ. (Thailand Zero Dropout) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 โดยมี ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการ เข้าร่วมประชุมด้วย 

ลุยนโยบาย \'เรียนไป-หาเงินได้\' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

ผลการประชุมครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของชาติ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ให้เป็นไปตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล 9 ข้อ ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 
 

และการสร้างการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยทำงานในเชิงระบบ เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่อง แก้ปัญหาใน 4 ประเด็น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 

รองนายกรัฐมนตรีฯ และประธานคณะกรรมการ TZD  กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ผลักดัน 4 ประเด็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้ง 1.02 ล้านคน  ดังนี้ 

ลุยนโยบาย \'เรียนไป-หาเงินได้\' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

1. ปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กเยาวชนรายบุคคลระหว่างหน่วยงาน

เพื่อให้การค้นหาและส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนการพาเด็กเยาวชนเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะการมีงานทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น

โดยที่ประชุมบอร์ด คกศ. ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์  เพื่อเร่งติดตามสถานการณ์ข้อมูลรายบุคคลของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2/2567 และบูรณาการการทำงานด้านข้อมูลร่วมกับหน่วยงานหลักต่างๆ

ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการงบประมาณจากระบบสวัสดิการจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกเหนือจากงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ลุยนโยบาย \'เรียนไป-หาเงินได้\' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

2.  กระตุ้นการทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่

เพื่อเริ่มต้นมาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายคน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ผ่านคณะกรรมการ 77 จังหวัด รวมทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากนี้จะมีหนังสือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด  ต่อไป 

3. ตั้งคณะอนุกรรมการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น และส่งเสริมการสร้างรายได้ของเด็กและเยาวชน

เพื่อเร่งผลักดัน การจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและมีคุณภาพให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย   เน้นส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นฝ่ายเลขาของคณะอนุกรรมการชุดนี้

ลุยนโยบาย \'เรียนไป-หาเงินได้\' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

4. กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี

เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน (Learn to Earn) สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ศักยภาพของเด็ก และให้มีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา  โดยทางกระทรวงการคลัง สภาหอการค้าไทย  และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กสศ. เป็นแกนหลักของเรื่องนี้ 

รองนายกรัฐมนตรีฯ และประธานคณะกรรมการ TZD  กล่าวว่า  ในที่ประชุม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังได้รายงานผลการเชื่อมโยงข้อมูลปีการศึกษา 1/2567  เฉพาะสังกัด สพฐ. และ อปท. พบว่า

  • มีนักเรียนจากฐานข้อมูลจำนวน 1.02 ล้านคน
  • เข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้ว ทั้งสิ้น 139,690  คน คิดเป็นร้อยละ 13.6  ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา
  • และในจำนวนการกลับเข้าสู่ระบบดังกล่าว มีจำนวน  22,541  คน ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ของ กสศ. ในการบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน เพื่อเป็นการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ

ลุยนโยบาย \'เรียนไป-หาเงินได้\' ช่วยเด็กหลุดนอกระบบ 1.02 ล้านคนกลับห้องเรียน

“ในจำนวนที่เข้ามาเรียนนี้ ส่วนใหญ่เป็น เด็กชั้นอนุบาล และป.1 ที่เข้าเรียนช้า ซึ่งในอนาคต เราพยายาม สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนที่ขาดความพร้อม ทั้งไม่มีเวลา ไม่มีผู้ดูแล ส่งลูกหลานให้ได้รับการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียน ให้เร็วที่สุด เพราะ เป็นโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงได้รับการคุ้มครองดูแลอีกด้วย” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการ TZD  กล่าว 

สำหรับการติดตามข้อมูลการช่วยเหลือค้นหา ทางหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาชน สามารถติดตามดูความเคลื่อนไหวผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางเว็บไซต์ https://isee.eef.or.th/