“ธนาคารที่ดิน - พอช.” ร่วมออกแบบโมเดลนำร่อง“บ้านมั่นคงชนบท”

18 พ.ย. 2567 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 11:31 น.

“ธนาคารที่ดิน”บูรณาการทำงานร่วมกับ พอช. และหน่วยงานรัฐในพื้นที่สนับสนุนให้เกษตรกรมี “บ้านมั่นคงชนบท“ นำร่องพื้นที่วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา อ.พิพาย จ.นครราชสีมา ให้เกษตรกมีดิน มีกิน มีที่อยู่อาศัย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นำโดย นางสาวสุวิมล มีแสง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน (พื้นที่) ลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.ลังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราขสีมา เพื่อบูรณาการทำงานการออกแบบพื้นที่นำร่อง “บ้านมั่งคงชนบท” ในพื้นที่ดำเนินโครงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืนของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) 

                      “ธนาคารที่ดิน - พอช.” ร่วมออกแบบโมเดลนำร่อง“บ้านมั่นคงชนบท”

นางสาวสุวิมล กล่าวว่า ที่วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา เริ่มต้นจากพี่น้องมีที่ดิน จาก “ธนาคารที่ดิน” กำลังพัฒนาไปสู่เรื่องบ้านมั่นคงชนบท กับ พอช. ซึ่งเป็นภาคีร่วมกัน สำหรับโครงการบ้านมั่นคงชนบท ที่วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา จะทำให้เป็นพื้นที่แรก โดยกระบวนการพิจารณาอนุมัติ ได้ผ่านการกลั่นกรองระดับภาคไปแล้ว ส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองระดับชาติติดเงื่อนไข 

โดยธนาคารที่ดิน ต้องช่วย พอช. เนื่องจาก พอช. สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวมเป็นกรรมสิทธิ์หมู่ พอช. ต้องการป้องกันที่ดินหลุดมือ แต่ที่นี่พี่น้องมีความมั่นคงเรื่องที่ดิน ที่อาศัย มีการทำสัญญาเช่าที่กับธนาคารที่ดิน ที่ดินจึงไม่หลุดมือ 

                        “ธนาคารที่ดิน - พอช.” ร่วมออกแบบโมเดลนำร่อง“บ้านมั่นคงชนบท”

“ธนาคารที่ดิน ทำให้พี่น้องพ้นจากความยากจน ไม่ต้องกอดความจนไว้ที่องค์กร  อย่างน้อย พอช. และธนาคารที่ดิน จะมีความร่วมมือหรือเอ็มโอยูให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่ามีพื้นที่ลักษณะนี้กระจายตัวอยู่ทั้งประเทศ ถ้าเรามีเงื่อนไขออกแบบร่วมกัน มาวิเคราะห์ด้วยกัน ใช้โจทก์ของพี่น้องเป็นตัวตั้ง และความต้องการของพี่น้องเป็นตัวตั้ง หมายความว่าจะใช้โครงการทั้ง 2 องค์กรนี้เป็นเครื่องมือ ยึดโยงกับท้องถิ่นในตำบลลังกาใหญ่ นี่จะเป็นโจทย์ที่เราจะใช้เป็นจุดเริ่มต้น แล้วค่อยขยับไปสู่ชุมชนรอบข้าง“ นางสาวสุวิมล กล่าว

ด้านนายกุลพัชร เปิดเผยว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องรอไม่ไหว ทำอย่างไรที่จะทำให้ความเดือดร้อนของพี่น้อง ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานรัฐให้ได้ ดังนั้น จึงฝากความหวังไปที่ พอช. ว่าพี่น้องต้องการขอความอนุเคราะห์โครงการบ้านมั่นคงชนบท ขอให้ยืดหยุ่นเงื่อนไข 

                         “ธนาคารที่ดิน - พอช.” ร่วมออกแบบโมเดลนำร่อง“บ้านมั่นคงชนบท”

และจากการรับฟังข้อมูลในวันนี้เชื่อมั่นว่าพี่น้องมีโอกาส และมีความหวังว่า วันนี้จะเป็นเครื่องมือ เป็นสารตั้งต้น พี่น้องจะมีส่วนร่วมเป็นหัวใจที่ “ธนาคารที่ดิน” และ พอช. ได้หารือแนวทางการทำงานร่วมกันถึงการออกแบบพื้นที่นำร่อง “บ้านมั่งคงชนบท” ในพื้นที่ดำเนินโครงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน ที่ได้สินเชื่อด้านที่ดินจาก “ธนาคารที่ดิน”  

เมื่อ “ธนาคารที่ดิน” และ พอช. ถ่ายทอดข้อมูล องค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพร่วมกัน จากนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อออกแบบพื้นที่ และลงนามความร่วมมือสำหรับดำเนินการโครงการ ”บ้านมั่นคงชนบท“ ในพื้นที่ ที่จะมีการจัดซื้อที่ดินใหม่ในปีงบประมาณ 2569 ปีงบประมาณ 2570 โดยเกษตรกร “มีดิน มีกิน มีที่อยู่อาศัย” มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต

                                 “ธนาคารที่ดิน - พอช.” ร่วมออกแบบโมเดลนำร่อง“บ้านมั่นคงชนบท”

สำหรับคณะผู้บริหาร “ธนาคารที่ดิน” ที่ลงพื้นที่ประกอบด้วย นายสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร นายธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และน.ส.เครือวัลย์ จำปาเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพัฒนาชุมชน และเครือข่าย ส่วนคณะ พอช. ประกอบด้วย น.ส.พิมพิไล ศรีบัว หัวหน้างานปฎิบัติการชุมชน น.ส.หทัยวรรณ เรืองยศ หัวหน้างานออกแบบและก่อสร้าง และนายสืบพงศ์ ทองดี สถาปนิกอาวุโส