สนช.เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 23 ที่ประเทศเยอรมนี ชี้ ไทยบรรลุเป้าหมายในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วที่ร้อยละ 11 พร้อมย้ำถึงการดำเนินงานของ สนช. ในการมุ่งให้ประชาชนเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (15 พ.ย.2560) เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net เผยแพร่ข่าวว่า พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ เป็นผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP) สมัยที่ 23 ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
โอกาสนี้ พล.อ.ศุภวุฒิ กล่าวอภิปรายในประเด็นสำคัญของการประชุมเรื่อง “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ: บทบาทสำหรับผู้ออกกฎหมาย (Low-carbon economy: What role for legislators?)” ว่า ไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุตามเป้าหมายที่ร้อยละ 11 แล้ว แต่ทั้งนี้ ควรมีการปรับตัวเพิ่มศักยภาพสำหรับรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาที่มีความเสี่ยง เสริมสร้างการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
โดย สนช.มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวในหลายแนวทาง โดยเฉพาะให้การรับรองข้อเสนอการปฏิรูปด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้เพื่อให้กฎหมายภายในประเทศมีความสอดคล้องกัน การผ่านพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้ สนช.เตรียมพิจารณาร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ป่าชุมชน และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายที่มุ่งให้เชื่อมโยงกับประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยให้รัฐบาลมีกลไกทางกฎหมายที่เพียงพอต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำหรับการประชุม COP ครั้งที่ 23 ไทยและรัฐสภาภาคีประเทศสมาชิกยังได้ร่วมอภิปรายเรื่อง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายจากการอพยพย้ายถิ่นด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนท้ายที่สุดประเทศสมาชิกได้ร่วมรับรองร่างเอกสารผลการประชุม ที่สร้างความตระหนักถึงสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานปัจจุบันไปสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่เป็นพลังงานทางเลือกซึ่งมีราคาต่ำกว่า และมีความเหมาะสมในทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์