ส่อง 37 พรรคถูกยุบ ‘เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ใครเป็นรายต่อไป?’

14 พ.ย. 2561 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2561 | 13:52 น.
 

ในวันที่พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีจำนวนไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไป หลายพรรคถูกยุบเนื่องจากกระทำการขัดกับข้อห้ามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจพิจารณาความสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง และยุบพรรคการเมืองได้

หนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ภายหลังการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องและครบถ้วนแล้ว หากพบว่า ข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไม่เป็นไปตามที่กำหนด กล่าวคือ ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของ ส.ส.
Untitled-1-89 พท.-อนาคตใหม่-เสี่ยงยุบ

น่าสนใจว่า ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวข้างต้นนี้ กรณีที่ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัว หน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มักจะพูดจนติดปากว่า “หากมีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง” อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคได้ด้วยหรือไม่

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” เอง ก็อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม มาตรา 28 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จากกรณีที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งหลบหนีคดีอยู่นอกประเทศให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับทิศทางของพรรคเพื่อไทย หลายครั้งหลายครา ในลักษณะอาจเข้าข่ายควบคุม ครอบงำ และชี้นำกิจกรรมของพรรคได้

ประวัติศาสตร์กำลังจะ ซํ้ารอยหรือไม่? เพราะก่อนหน้านี้ พรรคในเครือข่ายของ “ทักษิณ” เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบ “พรรคไทยรักไทย” เนื่องจากพบว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรค และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรค ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ทั้งยังร่วมกันสนับสนุนให้มีการปลอมแปลงเอกสาร อันเป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ผลเชื่อมโยงถึงการมีมติให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย ด้วย

อีกครั้งเมื่อปี 2551 กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย โดยมีหลักฐานว่า นายยงยุทธ ได้เรียกกำนัน 10 คนที่อำเภอแม่จัน มาพบเพื่อให้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งและให้เงินคนละ 20,000 บาท มีผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551
ยุบพรรค 37 พรรคสิ้นสภาพ

จากการรวบรวมข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วทั้งสิ้นรวม 37 พรรค โดย “พรรคกิจสังคม” ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกนั้น กกต. เพิ่งประกาศให้สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองลง เนื่องจากมีสมาชิกเหลือไม่ถึง 5,000 คน จึงต้องยุบพรรคตามข้อบังคับพรรค สิ้นสภาพความเป็นพรรค การเมืองลง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับ “พรรครักษ์ถิ่นไทย” ที่นายทะเบียนพรรคยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ(ศาลรธน.) มีคำสั่งยุบพรรค ตามข้อบังคับพรรคเมื่อปี 2549

ในขณะที่ “สาเหตุ” ที่นำไปสู่การยุบพรรคมากที่สุดถึง 17 พรรคการเมืองตลอดหลายสิบปีมานี้ อาทิ กรณีของ “พรรคเพื่อนเกษตรกรไทย” ที่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการ เมืองไม่ถูกต้อง เมื่อให้แก้ไขทางพรรคไม่ได้จัดทำให้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด

ครอบคลุมถึงกรณีที่หัว หน้าพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ให้จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีที่กำหนด ดังเช่น กรณีของพรรคอธิปไตย พรรคกฤษไทยมั่นคง พรรคสยาม พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคพลังแผ่นดินไทย พรรคบำรุงเมือง พรรคไทยพอเพียง พรรคดำรงไทย เป็นต้น

รวมถึงกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองที่กำหนดว่า เมื่อได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อาทิ พรรคพลังธรรม พรรคธรรมชาติไทย และพรรคเพื่อนเกษตรกรไทย เป็นต้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค และห้ามกรรมการบริหารไปจัดตั้งพรรคใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรค การเมืองภายใน 5 ปี

และอีกหลายพรรคที่นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามข้อกำหนด ดังเช่น พรรคพัฒนาสังคมไทย พรรคแรงงาน พรรคชาติพัฒนา พรรคทางเลือกที่สาม พรรคประชาชนไทย พรรคเสรี และพรรครวมพลังไทย เป็นต้น

ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดว่า ระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “อนาคตใหม่” พรรคไหนจะเป็นลำดับที่ 38 ต่อจากพรรคกิจสังคม ที่จะถูกยุบพรรค

[caption id="attachment_347372" align="aligncenter" width="335"] เพิ่มเพื่อน [/caption]

กกต.เท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ...การกระทำต้องห้าม สู่การยุบพรรค

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ได้ระบุเหตุที่จะทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรค การเมือง และการยุบพรรค การเมือง ออกเป็น 2 ส่วน

โดยส่วนแรก ให้อำนาจ กกต.พิจารณาสิ้นสภาพพรรคการเมืองได้เอง รวม 6 ประการ คือ 1. ไม่แก้ไขข้อบังคับพรรคให้ถูกต้อง 2. ไม่ตั้งสาขาพรรคหรือไม่มีสมาชิกตามที่กำหนด 3. ไม่จัดประชุมใหญ่หรือไม่ดำเนินกิจกรรมเกิน 1 ปี 4. ไม่ส่งผู้สมัครส.ส. 2 สมัย หรือ 8 ปีติดต่อกัน

5. พรรคมีหนี้สินจำนวนมากตามกฎหมายล้มละลาย และ 6. พรรคการ เมืองเลิกตามข้อบังคับพรรค โดยประกาศสิ้นสภาพของพรรคการเมืองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยจะส่งผลให้พรรคนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนที่สอง ให้ กกต.ยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยยุบพรรคใน 7 ประการ คือ 1. กระทำการล้มล้างการปกครอง 2. กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง 3. ดำเนินกิจการแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน 4. ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

5. เสนอหรือสัญญาจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นจูงใจให้บุคคลเป็นสมาชิก 6. ตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดนอกราชอาณาจักร และ 7. พรรคหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคสนับสนุนการกระทำ

|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : กมลพร ชิระสุวรรณ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3414 ระหว่างวันที่ 1 -3 พ.ย 2561
595959859