รัฐปัดฝุ่นกฎหมายจอมพล ป. แก้กักตุนสินค้า

31 มี.ค. 2563 | 11:21 น.

รัฐบาล ปัดฝุ่นพ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ กฎหมายสมัย จอมพล.ป. ตรวจสอบการกักตุนสินค้าทั่วประเทศ ฝ่าฝืนโทษหนักจำคุก 2 ปี

การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ถึง 30 เม.ย. 2563 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ปรากฎว่าเริ่มมีการกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค และการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ทุกจังหวัด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้เสนอให้มีการนำพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 มาบับใช้อย่างเข้มงวด โดยกระทรวงมหาดไทยจะออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้เขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับพ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 หรือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว ในสมัย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ตราขึ้น

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ปรากฏว่ามีพ่อค้าเป็นจำนวนมากได้ถือโอกาสกักตุนโภคภัณฑ์ เพื่อประสงค์จะให้สิ่งของดังกล่าวขาดแคลนในท้องตลาด ราคาสิ่งของจะได้สูงขึ้น แล้วจึงจะนำของดังกล่าวออกขาย

การกระทำของพ่อค้าดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมแก่สังคมจึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการสำรวจการกักตุนเครื่องโภคภัณฑ์ และมีการบังคับให้ผู้ที่กักตุนสิ่งของดังกล่าวขายสิ่งของแก่ประชาชนได้  ทั้งนี้ โดยจัดให้มีคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ขึ้น เพื่อดำเนินการสำรวจ การบังคับให้ขาย  ในการนี้จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ

กฎหมายฉบับนี้มีทั้งสิ้น 13 มาตรา มีมาตราสำคัญ คือ มาตรา 8  ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ เพื่อให้อำนาจคณะกรรมการและเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการกักตุนกักตุนโภคภัณฑ์ จามมาตรา 9ที่กำหนดให้ณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือสอบถามบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุน และสั่งหรืออนุมัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้บุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ได้
(2) ประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุนมาแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ และห้ามยักย้ายโภคภัณฑ์ดังกล่าวจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์นั้น เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการ ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการเทศบาล และที่ชุมนุมชนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

 (3) เข้าไป หรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคลใด ซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุนเพื่อตรวจโภคภัณฑ์ ใบรับในการขายหรือแลกเปลี่ยน รายการการค้าและเอกสารหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในการนี้ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ หรือเคหสถานดังกล่าวให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

 (4) สั่ง หรืออนุมัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าได้มีการกักตุน ขายโภคภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือคณะกรรมการตามวิธีการ ราคา และปริมาณที่คณะกรรมการกำหนด หรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ตามวิธีการ ราคา และปริมาณที่คณะกรรมการกำหนดในกรณีที่มีการขัดขืนคำสั่งของคณะกรรมการ กับมีอำนาจกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขในการชำระเงินและในการส่งมอบโภคภัณฑ์นั้น

ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ปิดประกาศคำสั่งตามความในวรรคก่อนนั้นไว้ ณ สถานที่เก็บโภคภัณฑ์ หรือพาหนะที่ขนโภคภัณฑ์นั้น เมื่อล่วงพ้นเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่วันปิดประกาศคำสั่งแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ไม่จัดการตามคำสั่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจยึดและบังคับซื้อตามความในวรรคก่อนได้

โภคภัณฑ์ของราชการหรือขององค์การรัฐบาลไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรานี้

มาตรา 10  ผู้ใดไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริงตามความในมาตรา 9 (1)  หรือฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา 9 (1) (2) หรือ (4) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท   หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 11  ผู้ใดขัดขวางการกระทำของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ให้ความสะดวกตามความในมาตรา 9 (3) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 12  ผู้ใดให้ถ้อยคำเท็จแก่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 9 (1) หรือให้ถ้อยคำเท็จในการแจ้งปริมาณหรือสถานที่เก็บโภคภัณฑ์ตามมาตรา 9 (2) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ