การแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนหลายแห่งของไทย จึงระดมสรรพกำลังคิดค้น และประดิษฐ์อุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้แพทย์ พยาบาล เพื่อรับมือกับวายร้ายที่มองไม่เห็นตัวนี้
ห้องคัดกรอง-ตรวจผู้ติดเชื้อ
มูลนิธิเอสซีจีได้ออกแบบประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SCG HEIM และ Living Solution พัฒนามาเป็นห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 โดยใช้เวลาติดตั้งเพียง 2 วัน สามารถรับมือการแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล
ห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงนี้ ภายในห้องถูกออกแบบให้มีระบบและความดันที่เหมาะสม มีระบบดูดอากาศเสียออกมาฟอกใหม่ให้สะอาดก่อนปล่อยทิ้ง ทำให้ทีมแพทย์อยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก
ห้องแยกการติดเชื้อความดันลบ
ขณะที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ได้จัดตั้งศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID -19 เพื่อช่วยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่แพทย์ต้องการ โดยประดิษฐ์ห้องแยกการติด เชื้อทางอากาศความดันลบ หรือโค้ดที่ใช้คือ EIT-01-1/24032020 (Airborne Inflection Isolation Room หรือ AIIR) ติดตั้งได้ทั้งช่องทางเดิน ที่โล่งในโรงพยาบาล หรือสามารถใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการกักตัว ลดการแพร่กระจาย เชื้อได้ สามารถประยุกต์ให้เป็น ร.พ.สนามอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ได้ออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นที่ 2 คือ “ถุงครอบศีรษะของบุคลากรทางการแพทย์แบบความดันบวก” เพื่อเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย และอุปกรณ์ทาง การแพทย์ชิ้นที่ 3 เป็นเตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ พร้อมอุปกรณ์บำบัดอากาศเพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ห้องความดันลบอาหารเพิ่มภูมิ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประดิษฐ์นวัตกรรม ห้อง Negative Pressure โมเดลเครื่องช่วยหายใจ เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องคัดกรองเชื้อโรค หลักการทำงาน จะปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative หรือมีแรงดันตํ่ากว่าห้องข้างเคียง เพื่อไม่ให้อากาศซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนภายใน ไหลออกมาสู่ห้องภายนอก ต้นทุนห้องละประมาณ 800,000 บาท
นอกจากนี้ ยังคิดค้น “เครื่องดื่มเพิ่มภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงอายุ” โดยนำผักชนิดต่างๆ ที่มีใยอาหารสูงมาคั้น และทำการอบแห้ง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบชงดื่ม
หุ่นยนต์ส่งอุปกรณ์แพทย์
คณะวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ประดิษฐ์รถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังร.พ.สนาม
นอกจากนั้น ยังได้คิดประดิษฐ์ หน้ากากผ้ากันนํ้า THAMMASK ใช้ทางการแพทย์ เป็นฝ้ายผสมโพลิเอสเทอร์ หรือ Cotton-Silk ผสานเทคโนโลยี สะท้อนนํ้า ช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ
ตรวจคัดกรองเชื้อโควิด
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นนวัตกรรมระบบตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น โดยตัว StripTest สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ จะช่วยลดจำนวนประชาชนที่กังวลว่าเข้าข่ายเสี่ยงหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยผลการตรวจเลือดเป็นบวก ก็ส่งต่อให้ยังโรงพยาบาลต่อไป
ขณะที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สร้างนวัตกรรมเครื่องพ่นนํ้ายาฆ่าเชื้ออัตโนมัติพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถขนย้ายและติดตั้งได้สะดวก นำกลไกการทำงานระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับคน เพื่อเปิดปิดประตูและพ่นนํ้ายาฆ่าเชื้อโดยไม่ต้องสัมผัส ใช้เวลาทำงานในแต่ละรอบเพียงไม่กี่วินาที และต้นทุนการผลิตไม่สูง
อุโมงค์-หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโควิด
ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ ร่วมกับ บริษัท ซันนี่ ซานีทารี่ ซัพพลาย จำกัด ใช้อุโมงค์ฆ่าเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า EM Auto Sanitizing Gate (เอ็ม ออโต้ แซนนิไทซิ่ง เกต) อุโมงค์พ่นนํ้ายาฆ่าเชื้อระดับนาโน ที่สามารถพ่นนํ้ายาในอนุภาคที่เล็กเพียง 3 ไมครอน
ขณะที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี-ซี มาเป็นผู้ช่วยด้านความสะอาดปลอดภัย ป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายชนิดอื่นๆ การทำงานจะปล่อยแสง UV-C ความเข้มสูงแบบ 360 องศา ส่งผลให้สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% ภาย ในเวลาไม่กี่วินาที และรังสียูวี-ซี เป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยไม่มีสารตกค้าง ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอาหาร
อุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบบพกพา
อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสียูวี-ซีขนาดพกพา เป็นหลอดไฟพิเศษสังเคราะห์รังสียูวี-ซีเลียนแบบธรรมชาติเพื่อนำมาฆ่าเชื้อโรค (Germical Lamp) สามารถวางฉายแสงไปยังพื้นที่ต้องการทำความสะอาด เช่น ที่นั่งบนเครื่องบิน ประตูลูกบิดห้องนํ้า เตียงนอนในโรงแรม แปรงสีฟัน ฯลฯ มีการอ้างว่าจังหวะของไฟแอลอีดี ยูวีซี สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้เกือบ 100% ภายในไม่กี่วินาที วิธีการคือวางหลอดยูวี-ซีห่างจากพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ประมาณ 10-15 วินาที แล้วค่อยเลื่อนไปพื้นผิวใหม่จนครบ
นี่เป็นนวัตกรรมใหม่บางส่วน ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อสู้ไวรัสโควิด-19
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563