วันที่ 10 มิ.ย.2563 นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการเข้าร่วม CPTPP โดยมีเนื้อหาใจความว่า
ผมอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า เพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ประเทศไทยเคยมีการลงนามความตกลงใกล้เคียงกับลักษณะนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อย้อนไปประมาณปี 52-53 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกรอบ TPP และหลังจากนั้น สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากกลุ่ม TPP ดังนั้นความเข้าใจเดิมของ TPP เดิมในกรอบเดิมที่มีเงื่อนไขที่เข้มงวดระดับสูง ทำให้เป็นปัญหามากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางเรื่องมีการถอยออกไป แต่ยังไม่ได้ถอยทุกเรื่อง จากนั้นประเทศไทยก็เข้ามาอยู่ในเป้าหมายของการที่จะพิจารณาว่าจะเข้าไปร่วมกับกรอบ CPTPP หรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อมีสัญญาณว่าเรื่องนี้จะเข้า ครม. ทำให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างรุนแรง ซึ่งก็มีน้ำหนัก เพราะคนที่ออกมาคัดค้านนั้นไม่เพียงแต่ภาคประชาสังคมเท่านั้น ยังมีอดีตรัฐมนตรี ดังนั้นข้อท้วงติงต่างๆ ล้วนจะต้องรับฟังทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องที่ถกเถียงกันรุนแรง ประกอบด้วย เรื่องเมล็ดพันธุ์ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การเปิดให้ภาคเอกชนเรียกร้องค่าเสียหาย การผูกขาดยาจากพืช หรือยาจากสมุนไพร การเปิดตลาด รวมไปถึง GMO ทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น
ญัตติในวันนี้เป็นการพิจารณาว่าจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะไปร่วม CPTPP หรือไม่ พร้อมกับยกเรื่องในอดีตที่ประเทศไทยเคยพยายามเจรจา FTA กับสหรัฐฯ แต่ในที่สุดคว่ำลงไม่เป็นท่าเพราะความขัดแย้งลักษณะเดียวกัน ที่บานปลายโดยต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ ไม่เดินหน้าเข้าหากัน และไม่คุยกันจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่พยายามร่วมกันแสวงหาคำตอบที่เป็นห่วง
ดังนั้นผมเห็นว่าเมื่อบรรยากาศของเรื่อง CPTPP เป็นไปในลักษณะเดียวกันก็จะทำให้ไปต่อไม่ได้ แต่ถือว่าการที่เรื่องมาถึงข้อยุติด้วยการไม่นำเรื่องเข้าพิจารณาใน ครม. จึงเป็นเรื่องดี และเปิดโอกาสให้สภาได้ตั้ง กมธ. วิสามัญขึ้นพิจารณาก่อน
เมื่อมองที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในข้อ 4.4 ระบุว่า เชื่อมไทยเชื่อมโลก ขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนเพื่อเปิดตลาดใหม่ ในวันนี้ประเทศไทยลงนามทางการค้าระหว่างประเทศไปแล้ว 13 ฉบับเกี่ยวข้องกับ 18 ประเทศ แต่เหตุที่ CPTPP ไม่เหมือนกับข้อตกลงอื่นๆ นั่นเป็นเหมือนกับ FTA+ ซึ่งสิ่งที่บวกเพิ่มเข้าไปคือ UPOV 1991 การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เรื่องสิทธิบัตรต่างๆ หรือสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา จัดซื้อจัดจ้าง การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ-เอกชน
สิ่งเหล่านี้ในข้อตกลง FTA ปกติจะไม่พูดถึง หรือหากพูดถึงก็จะไม่เป็นเงื่อนไขที่ปฏิบัติยาก หรือปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นการจะมอง CPTPP เหมือน FTA ทุกกรอบจึงไม่ใช่
ต้องไม่ลืมว่า FTA ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย สิ่งที่สังคมพูดกันจนถึงวันนี้ยังไม่พูดถึงเรื่องการประเมินการเมืองระหว่างประเทศเลยแม้แต่น้อย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศไทย และสอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติอย่างไร ก็ไม่มีการพูดถึง ณ วันนี้มีแต่การหยิบชิ้นนี้ ชิ้นนั้นมาพิจารณา แต่จะทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่จะต้องมาดูว่าภาพรวมของประเทศไทยนั้นมีโอกาสจะดำเนินการในเรื่องใดอย่างไรบ้าง
ผมได้เข้าไปดูเรื่องนี้พร้อมพูดคุยกับทางกระทรวง และพูดคุยกับภาคประชาสังคมแล้ว พบว่า เป็นหนังคนละม้วนอย่างชัดเจน มีความขัดแย้งรุนแรงมาก ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ค่อนข้างมีอคติต่อกัน แต่ละฝ่ายมีการตีความข้อตกลงบางเรื่องของประเทศอื่นที่ไทยต้องใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาความกระจ่างให้ได้ เพราะบางเรื่องเข้าใจไม่ตรงกัน บางเรื่องตีความผิด บางเรื่องสามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายเพิ่มเติมภายใน
สิ่งที่เป็นข้อกังวลต่างๆ ก็ต้องมีคำตอบ และอันนี้ก็เป็นบทบาทหนึ่งที่ กมธ.วิสามัญจะร่วมกันหาคำตอบที่ดี ที่มีเหตุมีผล และเป็นไปได้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องบอกผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าจะมีมาตรการอย่างไร มีงบประมาณเท่าไหร่ มีโครงการอะไรที่จะเข้าไปดูแล เพื่อให้สามารถปรับตัว แข่งขันได้ และไม่เสียเปรียบ ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาต่อเกษตรกรทั้งประเทศ
ถ้าคำนวนออกมาทางเศรษฐศาสตร์แล้วบวกมากกว่าลบ แต่ต้องกระทบเกษตรกร 30 ล้านคน ผมก็ไม่ทำ และเรื่องนี้ประเทศไทยก็ต้องไม่เลือกที่จะทำเด็ดขาด แต่อย่าลืมว่าทุก FTA ในโลกนี้จะมีคนได้และคนเสีย แล้วทำไมประเทศอย่างออสเตรเลีย อย่างอเมริกา เวลาไปทำ FTA กับที่ใด เขามีเรื่องเข้าสภาพร้อมกันเลยว่า กลุ่มนี้จะกระทบของบประมาณ และจะไปดำเนินการ 3 ปี 6 ปี 10 ปี เพื่อปรับโครงสร้างให้เข้มแข็งได้ แต่ของไทยยังไม่ทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 190 มีเจตนาที่จะให้ทำอย่างนั้น ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ ถ้าเลือกที่จะทำ เพราะฉะนั้นกรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญบังคับอยู่แล้วโดยเนื้อหาว่า ถ้ามีเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร มีหลักประกันอย่างไรที่จะทำให้เขาไม่ต้องถูกเอาเปรียบ เรื่องนี้เรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณาด้วยความรู้ ไม่ใช่อารมณ์ และต้องไม่มีอคติต่อกัน
ในยุทธศาสตร์ 20 ปี ระบุว่าประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์ เรื่องนี้อาจตอบโจทย์เรื่อง UPOV 1991 แต่งบประมาณต้องลง เป้าหมายต้องชัด และความสอดคล้องกับกติกาของการผลิต และการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์เป็นของไทยก็ต้องชัดเช่นกัน
วันนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่อง CPTPP มันชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่ชัดเจนจริงๆ ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ในเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นไม่มี
ผมเป็นประธานอนุกรรมการของ กมธ. เพื่อดูเรื่องของยุทธศาสตร์ของทุกประเทศ ทุกภูมิภาคในโลก เห็นได้ชัดคำตอบของจากทุกหน่วยงานของเราชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ตรงนี้คือจุดอ่อน ทำให้เป็นภาพที่ต่อจิ๊กซอว์ไม่ได้ว่าในที่สุดประเทศไทยควรจะทำอะไร
ถ้าเป็นผม ทางเลือกของเรามีตะวันออกกลาง อาฟริกาใต้ อาฟริกาเหนือ ยูเรเซีย อียู แคนาดา ดังนั้น CPTPP ถามว่าควรทำมั้ย ควรทำ ถ้าเรามีคำตอบกับข้อกังวลของทุกฝ่ายเป็นที่น่าพอใจ ถามผมว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นมั้ย เป็นไปได้ครับ แต่ไม่ใช่ด้วยบรรยากาศที่ขัดแย้งกันขนาดนี้ และมีอคติกันขนาดนี้
เราเพิ่งผ่านผลกระทบโควิด ทั่วโลกกระทบหมด เรายังใช้กรอบที่เราศึกษา CPTPP ก่อนเกิดโควิด ไปไม่ได้หรอก คนละเรื่องแล้ว อย่างนี้หนังคนละม้วน ก็ต้องเอาข้อมูลที่เคยศึกษาไว้เดิมมาศึกษาใหม่ทั้งหมด และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ หลังโควิด ถึงจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่างแท้จริงของรัฐบาลครับ