ครม.เคาะ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้

08 ก.ค. 2563 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 12:20 น.

ครม.เคาะ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ พร้อมแก้ไขกฏหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม

วันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยมีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

สำหรับสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มี 9 ข้อดังนี้

 

1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

 

2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

 

3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

 

4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

#สมรสเท่าเทียม กระหึ่มโซเชียล ก่อนดัน "พ.ร.บ. การรับรองเพศ" เข้าสภา

ถล่มยับ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่ตอบโจทย์ "สมรสเท่าเทียม"

เปิด "ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต" สาระคัญ 4 หมวด ที่ควรรู้

ย้อนที่มา "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ครูหยุย ระบุยังมีประเด็นที่ยังต้องถกเถียง

5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

 

7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

 

8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

 

9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

 

​​​​​​ในส่วนของ  ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้

2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”

3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

 

นอกจากนั้นแล้ว ครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. รวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

 

สำหรับร่างพ.ร.บ คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน