กรณีการเรียกตบทรัพย์ "กรมน้ำบาดาล" กลายเป็นเรื่องร้องเรียนถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา
กรณีมีรายงานข่าวว่า นายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล แฉกลางวงที่ประชุมอนุกรรมาธิการ (กมธ.) แผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มี นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ว่า มี อนุกมธ.บางคนโทรศัพท์ไปเรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการผ่านงบประมาณให้
ในการประชุมในวันดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณแผนบูรณาการบริหารจัดการ ทรัพยากรนํ้า ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ 2 กรม คือ กรมทรัพยากรนํ้าบาดาล งบประมาณ 1,276.5 ล้านบาท และ กรมทรัพยากรนํ้า งบประมาณ 3,772.8 ล้านบาท งบในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง 13,103.9 ล้านบาท
ตามรายงานข่าวบอกว่า ได้เกิดปัญหาระหว่าง อนุกมธ.กับหัวหน้าส่วนราชการอย่างหนักหน่วง เพราะอนุกมธ.ชุดนี้ ไม่ยอมปล่อยผ่านงบประมาณ ของกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล ในก้อนดังกล่าว จนทำให้ นายศักดาขู่ในที่ประชุมว่าจะนำเรื่องนี้ไปแถลงต่อสื่อมวลชน ต่อมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย รองประธานกมธ.งบประมาณฯ ต้องเป็นผู้เข้าไปเคลียร์เพื่อยุติปัญหา
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่กรมทรัพยากรนํ้าบาดาลหน่วยงานเดียวเท่านั้น ที่ถูกอนุกมธ.ชุดนี้เรียก “เงินใต้โต๊ะ” ปรากฏว่ามีอธิบดีบางกรมถูกเรียกเงินแลกกับการไม่ตัดงบประมาณถึง 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครกล้าพูดกลางที่ประชุมเหมือนที่ นายศักดา ทำ
“อนุกมธ.หลายคนร่วมกันหากินกับเรียกเงินใต้โต๊ะ แลกกับการผ่านงบประมาณ มีการทำกันเป็นขบวนการ” แหล่งข่าวระบุ
สำหรับอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้เป็น 1 ใน 8 ที่คณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.บประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปรับลดงบที่ไม่จำเป็น จนกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของคนไม่สุจริต ไปเรียกรับเงินจากข้าราชการแลกกับการไม่ตัดงบประมาณ
เปิดโฉม20อนุกรธ.
สำหรับคณะอนุกมธ.แผนงานบูรณาการ 2 ที่ปรากฏเรื่องราวฉาวโฉ่อยู่ในขณะนี้ มีทั้งหมด 20 คน ประกอบด้วย
1.นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ประธานอนุฯ 2.นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ รองประธานอนุฯ คนที่หนึ่ง 3.นายจักรัตน์ พั้วช่วย รองประธานอนุฯ คนที่สอง 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ รองประธานอนุฯ คนที่สาม 5.นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ รองประธานอนุฯ คนที่สี่ 6.นายสุทิน คลังแสง ประธานที่ปรึกษาอาวุโสอนุฯ 7.นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ ประธานที่ปรึกษาอนุฯ 8.นายสาธิต อุ๋ยตระกูล โฆษก อนุฯ 9.ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า โฆษก อนุฯ 10.นางนันทนา สงฆ์ประชา เลขานุการอนุฯ
11.นายบุญแก้ว สมวงศ์ ที่ปรึกษาอนุฯ 12.นายคมเดช ไชยศิวามงคล ที่ปรึกษาอนุฯ 13.นาย จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ที่ปรึกษาอนุฯ 14.นายพีรเดช คำสมุทร ที่ปรึกษาอนุฯ 15.นายฐิตินันท์ แสงนาค ที่ปรึกษาฯ 16.นายธารา ปิตุเตชะ ที่ปรึกษาฯ 17.นาย อัฏฐพล โพธิพิพิธ ที่ปรึกษาฯ 18.นายศิริพงษ์ รัสมี ที่ปรึกษาฯ 19.นายรณเทพ อนุวัฒน์ ที่ปรึกษาฯ และ 20.นางเจริญ เรี่ยวแรง ที่ปรึกษาฯ
แฉวิธีตบทรัพย์
นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย 1 ในคณะอนุกมธ.แผนงานบูรณาการ 2 แฉถึงวิธีการตบทรัพย์ โดยทั่วไปมี การใช้ 2 วิธี คือ
1.ล็อบบี้ตั้งแต่ยังไม่ถึงขั้นตอนประชุมโดยเรียกหน่วยงาน ราชการมาพูดคุย ซึ่งส่วนใหญ่ข้าราชการทราบประวัติคนเหล่านี้ดี เมื่อไม่คุยด้วยจะไล่บี้ในที่ประชุมจนเหนื่อย
2.รายใดที่ไม่ได้มีการเรียกคุย จะมีการซักถามหรือไล่ในที่ประชุม จากนั้น จะมีคนสะกิดข้าราชการไปคุยนอกห้องประชุม เมื่อได้รับข้อตกลงตามที่ต้องการ จึงผ่านงบประมาณ
“ผมรู้หมดว่าชื่ออะไร แต่ไม่อยากพูด ในสถานการณ์แบบนั้น อธิบดีคงทนไม่ไหว คนเหล่านี้ตั้งใจเข้าไปเป็นกรรมาธิการติดๆ กันหลายปี จะเข้ามาด้วยการชื่อตําแหน่ง หรือใช้เส้นสายก็สุดแท้แต่จะเห็นมีหน้าเก่าๆ อยู่ ไม่กี่คน บางคนหากินกับงบ ประมาณ โดยใช้วิธีตีว่าไม่ให้งบก่อน พอหน่วยราชการกลัว ว่าจะไม่มีเงินไปทํางาน ก็ต้องไปเจรจาว่า ขอเถอะอย่าตีเลย อะไรพอแลกได้ก็จะแลก พอแลกแล้ว ก็กลับมาในห้องประชุม บอกว่า ไปพิจารณาแล้วมีข้อมูลใหม่ อย่างนี้ต้องให้ผ่าน”
นายศรัณย์วุฒิยํ้าว่า นี่คือวิธีตบทรัพย์ เหนือกว่านั้นคือ ยังไม่ทัน ประชุม แต่เรียกหน่วยงานคุยก่อนว่า ปีนี้จะให้ความร่วมมือหรือไม่ ถ้าให้ความร่วมมือดี พอประชุม จะราบรื่น ตัดงบน้อยมาก หรือแทบจะไม่ตัดเลย แต่รายใดไม่มีข้อตกลงพิเศษ จะไล่บี้ บอกว่าที่ชี้แจงมาไม่เพียงพอ มีคนทําแบบนี้เยอะ ล้วนเป็นหน้าเก่าๆ ทําให้หน่วยงานต่างๆ อาจไม่ได้เงินที่จําเป็นในการทํางาน ต้องมาเสียเบี้ยบ้ายรายทางให้เหลือบพวกนี้”
นายศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่ง ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบบอกว่า “ถ้าเป็นเรื่องจริงถือว่าเลวร้ายมาก สำหรับการเมืองการปกครองของบ้านเรา การตบทรัพย์ในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่น่าละอาย ไม่น่าเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องเหล่านี้กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราว่าถ้าเข้ามาแล้ว แล้วมาเจอระบบราชการที่มีพฤติการณ์คอร์รัปชัน มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง”
เรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญ และประมวลจริยธรรมอย่างรุนแรง และโทษสูงสุดไล่ออกจาการเป็น ส.ส.
“เสือหิว-เสือโหย”เพ่นพานเต็มสภาฯ ต้องช่วยกันตามจับ ตามตะครุบตัวให้ได้ เพื่อปกป้อง “งบประมาณแผ่นดิน” ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของพวกเราคนไทยทั้งชาติ...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,600 หน้า 10 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม 2563