หลังจากที่ นายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ออกมาแฉพฤติกรรมของ ส.ส.บางรายจากพรรคการเมืองซึ่งทำหน้าที่อนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการไม่ถูกตัดงบของหน่วยงานที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคม และอยู่ในขั้นการตรวจสอบหาข้อสรุปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จริงหรือไม่ อย่างไร
ล่าสุด มีการเผยแพร่คลิปเสียงความยาวเกือบ 2 นาที คล้าย ส.ส.คนดังกำลังเจรจาเรียกรับเงินจากบริษัทที่รับติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี (CCTV) ในโครงการ Safe Zone Schools ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแลกกับการเคลียร์สื่อมวลชนและคนใหญ่คนโตในหลายวงการ ให้ยุตินำเสนอข่าวด้านลบของบริษัท
คลิปเสียงที่ระบุว่า เป็นเสียงสนทนาของนักการเมืองชื่อดังรายหนึ่ง กำลังเจรจากับตัวแทนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจรับติดตั้งกล้องวงจรปิด และเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการ Safe Zone Schools ของกระทรวงศึกษาธิการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดบทสนทนา “อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล” โดนเรียกใต้โต๊ะเงิน 5 ล้าน
แฉวิธีรีดใต้โต๊ะ "ศักดา วิเชียรศิลป์" อธิบดีน้ำบาดาล
อธิบดีน้ำบาดาลแฉ โดนส.ส.เรียกใต้โต๊ะ 5 ล้าน
ป.ป.ช.เด้งรับปม"อธิบดีน้ำบาดาล"แฉถูกรีดใต้โต๊ะ
โดยในคลิปดังกล่าว เป็นเสียงสนทนาของคน 3 คน คนแรก นาย ต. นักการเมืองหนุ่มคนดังที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่เป็นระยะนี้ คนที่ 2 คือ นาย ป. พรรคพวกของนักการเมืองหนุ่ม อีกราย เป็น ตัวแทนบริษัทรับติดตั้งกล้องวงจรปิด
สำหรับเนื้อหาของการสนทนาความยามเกือบ 2 นาทีนี้ เป็นประเด็นที่ นาย ต. พยายามพูดจาหว่านล้อมให้ ตัวแทนบริษัทจ่ายเงินก้อนหนึ่ง จำนวน 12 ล้านบาท โดยอ้างว่า เพื่อนำไปเคลียร์กับสื่อมวลชน และคนใหญ่คนโตอีกหลายคนในวงการเพื่อให้ยุติข่าวฉาวด้านลบของบริษัทที่กำลังส่งผลกระทบต่อการรับงานในโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด
ช่วงหนึ่งของการสนทนานั้น นาย ต. ซึ่งปัจจุบันเป็นนักการเมืองฝีปากกล้า บอกกับตัวแทนบริษัทว่า ถ้าตนเองโกรธขึ้นมา ไม่ว่าใครจะใหญ่แค่ไหน โครงการใหญ่แค่ไหนก็พังหมด เพราะสามารถดึงพวกพ้องมาช่วยเหลือได้จำนวนมาก และหากอยากให้เรื่องจบ ก็ให้นำเงินก้อนนี้ไปโยนไว้ที่ท้ายหลังรถกระบะ
อย่างไรก็ดี หลายคนที่ได้ฟังคลิปเสียงนี้ สันนิษฐานว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับคลิปตบทรัพย์ที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งขู่ว่า จะออกมาแฉหลังมีเรื่องมีราวกับนักการเมืองคนหนึ่งในสภา ทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตกันด้วยว่า เหตุการณ์ตามคลิปดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นก่อนที่นักการเมืองคนนี้จะได้เป็น ส.ส.
ขณะที่โครงการ Safe Zone Schools เป็นโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในโรงเรียน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสงขลา เมื่อปี 2559-2560 ซึ่งมีการตรวจสอบพบการทุจริต และมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้ว