2 ตุลาคม 2563 นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัครส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ทบทวนการให้ใบส้ม และคืนสิทธิการเป็นส.ส.ให้กับตนเอง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ กกต. ขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครและให้นายสุรพล ชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่
นายสุรพล กล่าวว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว แสดงว่า สิ่งที่ กกต.ปฏิบัติกับตนถือว่าขาดความเที่ยงธรรมและยุติธรรม ที่กกต.อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ว่า การวินิจฉัยของกกต.เป็นที่สุดนั้น อย่าลืมว่า ในบทบัญญัติดังกล่าว ก็กำหนดว่า การวินิจฉัยของกกต.ต้องสุจริตและเที่ยงธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน!กกต.ฟัน ใบส้ม "สุรพล" เพื่อไทย ชวดส.ส.เชียงใหม่เขต 8
ราชกิจจาฯเผยแพร่ระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563
วางคิว "เลือกตั้งท้องถิ่น"ประเดิม อบจ. "กทม.-พัทยา"รั้งท้าย
"มท.-กกต."ลุย "เลือกตั้งท้องถิ่น" ชง ครม.ไฟเขียว 6 ต.ค.นี้
คำว่า สุจริต มีความหมายว่ากกต.ต้องมีความรอบคอบในการพิจารณาวินิจฉัยและไม่ทำให้เกิดความเสียหายในการเลือกตั้ง คำว่า ยุติธรรมหมายความว่า กกต.จะต้องมีการสืบสวน สอบสวน ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่สิ่งที่กกต.ทำในคดีนี้ กลับมีการเร่งรีบวินิจฉัยโดยที่สำนวนถูกส่งมาจากกกต.เชียงใหม่ ถึงสำนักงานกกต.ในเวลา 10.02น.ของวันที่ 23 เม.ย. 2562 กกต.ก็พิจารณาเลยในเวลา 15.00ของวันเดียวกัน ทั้งที่ในสำนวนมีหลายเรื่อง จึงจำเป็นต้องมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ขอให้กกต.ทบทวน โดยให้เวลากับกกต. 15 วัน ถ้ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะให้ทีมทนายพิจารณาในเรื่องการดำเนินการฟ้อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157
“กกต.อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ว่าคำวินิจฉัยของกกต.เป็นที่สิ้นสุด คำว่าสิ้นสุดต้องสิ้นสุดด้วยความถูกต้อง แต่นี้ศาลฎีกายกคำร้อง ก็หมายความว่าให้ผมบริสุทธิ์ หมายความว่าที่ผ่านมาเท่ากับว่ากกต.ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม วินิจฉัยผิดพลาด ดังนั้นใบส้มที่ให้ไว้ ถือว่าเป็นโมฆะ ทั้งกกต.กลาง และกกต.เชียงใหม่ ไม่มีความรอบคอบ พิจารณาด้วยความเร่งรีบ เมื่อผมไม่ผิดกกต.ก็ต้องคืนสิทธิประโยชน์ ให้กับผม และคืนความเป็นส.ส.ของผมให้กับพี่น้องเขต 8 เชียงใหม่ “
ด้านนายปกป้อง กลับวิเศษ ทนายความของนายสุรพล กล่าวว่า การที่กกต.อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ว่าคำวินิจฉัยของกกต.เป็นที่สุด และคงจะทำอะไรไม่ได้นั้น จริงๆไม่ใช่ เพราะการจะอ้างเช่นนั้นได้การพิจารณาของกกต.ต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย แต่ในกรณีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาในประเด็นข้อกฎหมาย ว่าการดำเนินการสืบสวน ไต่สวน ก่อนให้ใบส้ม ก็ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวนไต่สวน ของกกต.เอง และกกต.ชุดนี้ก็เก่งมาก จะวินิจฉัยใบส้มก็ไม่อ่านสำนวนทั้งที่ตามระเบียบกำหนดว่าก่อนที่จะวินิจฉัยจะต้องมีการศึกษาสำนวน 3-7 วัน
แต่กกต.เมื่อได้รับสำนวนในเวลา 10.02 น. วันที่ 23 เม.ย.2562 ก็ประชุมเรื่องนี้ในเวลา 15.00น.จากที่เริ่มประชุมเมื่อ13.30 รายงานประชุมบ่งชี้ว่ากกต.ไม่อ่านสำนวน แต่ไผเชื่อคำบอกเล่าของกกต.เชียงใหม่ที่ขึ้นเครื่องมาชี้แจง เมื่อพิจารณาเสร็จก็รีบลงมติ ถึงขนาดที่กกต.บางท่านไม่ได้เขียนชื่อของนายสุรพล ลงในใบลงมติด้วยซ้ำ
“ความจริงการที่จะประหารชีวิตนักการเมืองสักคน ก็ควรที่อ่านสำนวนสักหน่อยหรือไม่ ระเบียบก็เขียนไว้ชัดว่าต้องมีการศึกษาสำนวน 3-7 วัน และนี่เป็นการให้ใบส้มใบกลับใช้เวลาในการพิจารณาเพียงไม่กี่ชม.การจะให้ใบส้มคนแรกของประเทศทำการอย่างนี้หรือ จากข้อมูลจึงทำให้เรามั่นใจว่ากรณีนี้ไม่เป็นที่สุด เพราะไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด"
นอกจากนี้ตอนที่ยื่นต่อศาลฎีกา กกต.ยังเอาข้อเท็จจริงนอกสำนวน มาเขียนอ้างว่า นายสุบิน ทองก้อนสิงห์ ให้การว่าหลังพระได้รับซองเงินจากนายสุรพลแล้ว นายสุบิน เขียนชื่อนายสุรพล ลงบนซองเงิน นายสุรพล ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่ได้คัดค้าน แต่ข้อเท็จจริงในการไต่สวนมีเพียงว่า เมื่อพระได้รับซองแล้ว นายสุรพล ก็ได้เดินทางกลับ และไม่มีพยานคนใดเห็นว่านายสุรพล อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้
มีคำพิพากษาว่านายสุรพลไม่ผิด จึงอยากให้กกต.ทบทวนเสียก่อน เพราะกกต.ถือเป็นสถาบันหลักของประเทศ ก็อยากให้กกต.วางบรรทัดฐานว่าเมื่อวินิจฉัยผิดก็แก้ไขได้ แต่หากเพิกเฉยและยังคงให้เลขาฯหรือรองเลขาฯ ออกมาชี้แจงได้เพียงเท่านี้ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย เพราะเวลานี้นายสุรพล ได้รับการกดดันจากพี่น้องเขต 8 เชียงใหม่ ว่าต้องได้กลับมาเป็นส.ส. อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า แม้กฎหมายจะไม่ได้เขียนแน่ชัดว่าให้กกต.สามารถทบทวนได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าการกระทำนั้นมันถึงที่สุดและถูกลบล้างไปแล้ว ก็น่าจะยึดกฎหมายพื้นฐานทั่วไป เฉกเช่นเดียวระเบียบทางการปกครองที่หากมีความผิดพลาดก็แก้ไขได้
“เมื่อข้อเท็จจริงใดที่ผิดพลาดก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ด้วยตัวผู้ที่ออกคำสั่ง โดยหลักพื้นฐาน เราใช้หลักพื้นฐานในกรณีนี้ เหมือนกับที่กกต.อ้างว่าถึงที่สุด เพราะการถึงที่สุดตามความเป็นจริงแล้ว ตามมาตรา 224 คำว่าถึงที่สุดหมายความว่าเป็นที่สุดในกระบวนการตอนนั้น หมายความว่าคุณจะไปขอคุ้มครองชั่วคราว หรือไม่อุทธรณ์คำสั่ง เพื่อให้ตัวเองไปเลือกตั้งทำไม่ได้ เรื่องนี้ถึงแม้ไม่มีกฎหมายเฉพาะ แต่สามารถใช้หลักพื้นฐานได้”