จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดำเนินการกับการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือ “ม็อบ14ตุลา”
นำไปสู่การ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการออกประกาศ คำสั่ง แต่งตั้ง รวมแล้ว 4 ฉบับ เพื่อควบคุมสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ในพื้นที่กทม.
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ ตั้ง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบุข้อกำหนด ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าพนักงาน "จับกุม-เรียกตัว-ตรวจค้น-ยึดอายัด"
เปิดข้อห้าม “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ฝ่าฝืนโทษคุก 2 ปี
แต่มีคำถามที่น่าสนใจและเป็นความรู้ว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” กับ “สถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” มีความเหมือน หรือ ต่างกันอย่างไรในบริบทของสถานการณ์และการบังคับใช้
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า “พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ให้ความหมายของ สถานการณ์ฉุกเฉิน และ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ดังนี้
สถานการณ์ฉุกเฉิน
“สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทําให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจําเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติการปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิต โดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความสงบเรียบร้อย หรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง”
สำหรับการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีมาตรการต่างๆ ที่สามารถใช้ผ่านข้อกําหนดการประกาศ และคําสั่งต่างๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กฎหมายระบุได้ แต่ละมาตรการถูกใช้แตกต่างกันตามการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี มาตรการที่ใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ระบุไว้ในมาตรา 9 ของพระราชกําหนดฉบับนี้
อาทิ
- การห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กําหนด
- การห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- การห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- การห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม การใช้ยานพาหนะ อาคาร และการให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ เป็นต้น
สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ไม่ได้ให้นิยามไว้โดยชัดเจน แต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ว่า
“ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กําลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจําเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไข ปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอํานาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง “
เมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงแล้ว กฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรี มีอำนาจ นอกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินปกติ ดังนี้
1. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วม กระทําการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทําเช่นว่านั้น หรือ ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจําเป็นเพื่อป้องกันมิให้ บุคคลนั้นกระทําการหรือร่วมมือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความ ร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
2. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
3. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทําการ หรือสนับสนุนการกระทําให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทําลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจําเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติ โดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทําให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
5. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือ การสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ใน กฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
6. ประกาศห้ามมิให้กระทําการใด ๆ หรือสั่งให้กระทําการใด ๆ เท่าที่จําเป็นแก่การรักษา ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
7. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประเทศ
8. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นํา กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
9. ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือ ก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรี กําหนด
10. ออกคําสั่งให้ใช้กําลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตํารวจระงับเหตุการณ์ ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มี อํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับอํานาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกําหนดนี้ โดยการใช้อํานาจ หน้าที่ของฝ่ายทหารจะทําได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรี กําหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก
เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตาม มาตรานี้โดยเร็ว
ที่มา ความต่าง “สถานการณ์ฉุกเฉิน” กับ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง”