วันนี้( 6 พ.ย.63) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ คําแนะนําของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๖๓
โดยที่เป็นการสมควรให้กระบวนการทางศาลในทุกขั้นตอนการปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็น เหยื่ออาชญากรรมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประธานศาลฎีกา จึงออกคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้เสียหาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ศาลพึงปฏิบัติต่อผู้เสียหายด้วยความเข้าใจและคํานึงถึงศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ ฐานะ สถานภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ และการดํารงชีวิตของผู้เสียหายอันเนื่องมาจากการดําเนินกระบวนพิจารณาทางศาล
หลักทั่วไป
ข้อ ๒ ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นหรือความกังวลใจของผู้เสียหาย ด้วยความเมตตาและเข้าใจ และด้วยความเป็นกลางโดยปราศจากอคติที่มีต่อทุกฝ่ายในคดี
ข้อ ๓ เมื่อเห็นเป็นการจําเป็น ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลจัดทําข้อมูลประวัติของผู้เสียหาย ผลกระทบ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย ความคิดเห็น หรือความกังวลใจของผู้เสียหาย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดี
กรณีผู้เสียหายร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยให้ดําเนินการตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม ว่าด้วยการคุ้มครองและค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือศาลอาจมีคําสั่ง ให้เจ้าพนักงานตํารวจศาลดําเนินการตามความเหมาะสม
ข้อ ๔ ศาลพึงอธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหาย ขั้นตอนการดําเนิน กระบวนพิจารณา รวมถึงแจ้งความคืบหน้าและการสิ้นสุดของการดําเนินกระบวนพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ
ข้อ ๕ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว คดีที่ผู้เสียหาย เป็นเด็กหรือเยาวชน หรือคดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือสังคม ศาลพึงระมัดระวัง ไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ต้องหาหรือจําเลยกับผู้เสียหายและพยาน โดยจัดห้องพักผู้เสียหาย และพยานเหล่านั้นแยกต่างหากจากห้องพักพยานทั่วไป รวมถึงอาจจัดให้มีการสืบพยานผ่านระบบ การประชุมทางจอภาพหรือสืบพยานแบบไม่เผชิญหน้าเท่าที่ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย
การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย
ข้อ ๖ ในการพิจารณาคําร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย ศาลพึงคํานึงถึง ความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เสียหาย โดยอาจสอบถาม ความคิดเห็นของผู้เสียหายเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราว
ข้อ ๗ ในกรณีที่มีคําสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย ศาลอาจกําหนดมาตรการกํากับดูแล ความประพฤติของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและสิทธิของผู้เสียหาย เช่น
(๑) ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือติดต่อกับผู้เสียหายไม่ว่าด้วยวิธีการใด
(๒) ห้ามปรากฏตัวให้ผู้เสียหายเห็นโดยจงใจ
(๓) ห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ผู้เสียหายอยู่อาศัย
(๔) ห้ามสืบหาหรือตรวจสอบความเป็นไปของผู้เสียหาย
การเยียวยาความเสียหาย
ข้อ 8 ศาลพึงให้ความรู้และคําแนะนําแก่ผู้เสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งให้ทราบถึง สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายตามสมควร ในการดําเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าตอบแทน หรือการช่วยเหลืออย่างอื่นที่จําเป็น
ข้อ 9 ศาลพึงช่วยเหลือแนะนําผู้เสียหายในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอม ข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับจําเลยเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็ว และเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย
การพิพากษาคดี
ข้อ ๑๐ ในการกําหนดโทษ ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายและคํานึงถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายประกอบด้วยเสมอ ในกรณีที่จะพิพากษารอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษ และคุมความประพฤติจําเลย หากผู้เสียหายยังไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงกําหนดให้การขวนขวาย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงื่อนไขในการคุมความประพฤติจําเลยด้วย และอาจวางเงื่อนไขให้จําเลย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ ผู้เสียหายด้วยก็ได้
ข้อ ๑๑ เมื่อมีคําพิพากษา ศาลจึงแจ้งผลคําพิพากษาพร้อมคําแนะนําเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์ หรือฎีกาให้ผู้เสียหายทราบโดยเร็วโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
การบังคับค่าสินไหมทดแทน
ข้อ ๑๒ กรณีที่มีคําพิพากษาให้จําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและจําเป็นต้องมีการบังคับคดี ให้เจ้าหน้าที่ศาลให้คําแนะนําและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดําเนินการเพื่อบังคับคดี รวมทั้ง การประสานงานแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายหรือขอข้อมูลจาก องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การยึดอายัดทรัพย์สินของจําเลยหรือบังคับคดี โดยวิธีการอื่นต่อไป
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
เมทินี ชโลธร
ประธานศาลฎีกา