วันที่ 10 พ.ย. 63 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ กษ. เสนอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.ถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” แด่ "สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ"
ครม.เห็นชอบระเบียบรองรับ "ธนาคารกรุงไทย" พันสภาพรัฐวิสาหกิจ
เช็ก มติครม. 10 พ.ย.63 "แต่งตั้ง-โยกย้าย" ทุกกระทรวง-หน่วยงาน ได้ที่นี่
โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 27 ฉบับ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวบาลขึ้น โดยมีสภาการสัตวบาลเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาล เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล เพื่อให้การประกอบวิชาชีพการสัตวบาลเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กำหนดให้ “วิชาชีพการสัตวบาล” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตสัตว์เลี้ยง การปรับปรุงและบำรุงพันธุ์สัตว์เลี้ยง การจัดการอาหารสัตว์เลี้ยง การจัดการสุขาภิบาลต่อสัตว์เลี้ยง ตลอดจนการจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ เพื่อทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และให้ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
2. กำหนดให้มี “สภาการสัตวบาล” เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ควบคุมความประพฤติและการดำเนินการของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวบาล ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล โดยมีหน้าที่และอำนาจในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ การสัตวบาล รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร อนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการสัตวบาลของสถาบันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก และออกคำสั่งยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต
3.กำหนดให้สมาชิกสภาการสัตวบาลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ มีความรู้ในวิชาชีพการสัตวบาลโดยได้รับปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร อนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการสัตวบาล หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องจากสถาบันที่สภาการสัตวบาลรับรอง ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นโรคตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ซึ่งสมาชิกมีสิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือ ดำรงตำแหน่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของสภาการสัตวบาล ชำระค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ทั้งนี้ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ ไม่ชำระค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง หรือค่าใช้จ่ายโดยไม่มีเหตุ อันสมควร
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาการสัตวบาลโดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารกิจการสภาการสัตวบาลตามวัตถุประสงค์และหน้าที่และอำนาจของสภาการสัตวบาล แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการสอบสวน และคณะอนุกรรมการอื่น เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และหน้าที่และอำนาจของสภาการสัตวบาล กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานสาขาของสภาการสัตวบาลตามความจำเป็น ออกระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และแต่งตั้งถอดถอนที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ
5. ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพการสัตวบาล หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาการสัตวบาล
6. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลประเภท ก. และ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลประเภท ข. ซึ่งผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวบาลต้องเป็นสมาชิกและมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลประเภท ก. ต้องได้รับปริญญาในสาขาวิชาชีพ การสัตวบาลจากสถานศึกษาในประเทศไทยที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับรองและผ่านการสอบความรู้ตามที่กำหนด หรือได้รับปริญญาในสาขาวิชาชีพการ สัตวบาลจากสถานศึกษาในต่างประเทศที่สภาการสัตวบาลรับรอง ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศ ที่ตนได้รับปริญญาและผ่านการสอบความรู้ตามที่กำหนด เว้นแต่เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยอาจไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาก็ได้ แต่ต้องผ่านการสอบความรู้ตามที่กำหนด
- ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลประเภท ข. ได้รับปริญญาสาขาอื่นที่มิใช่สาขาวิชาชีพการสัตวบาลจากสถานศึกษาที่ อว. หรือ ศธ. รับรอง และผ่านการสอบความรู้ตามที่กำหนด หรือได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรด้านการสัตวบาลขั้นพื้นฐานจากสถาบันที่สภาการสัตวบาลรับรอง และผ่านการสอบความรู้ตามที่กำหนด