นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อย่าเพิ่งตกใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)รอบ 2 ในประเทศไทย เพราะในความเป็นจริงแล้วอยู่ที่ทัศนคติในการทำงานว่าต้องการจะเป็นในลักษณะให้ควบคุมหรือป้องกัน ซึ่งต้องเข้าใจการควบคุมเชื้อโรคสั่งไม่ได้ เพราะเชื้อโรคไปได้ทุกที่ทุกเวลา แต่คนที่เชื้อโรคจะติดนั้นถ้าให้ความรู้ที่ดีจะไม่ตกใจ แต่จะเข้าใจและป้องกันตัวเองได้
ทั้งนี้ ที่ทั้งโลกตกใจเพราะรอบแรกที่ระบาดนั้นไวรัสมีหลายตัว แต่คงเหมือนไข้หวัดใหญ่เมื่อก่อนที่คล้ายกับไวรัสดังกล่าวนี้ ทุกประเทศไม่มีความรู้ก็เลยกลัวไปหมดจนมีวัคซีนเกิดขึ้นวิธีการรักษาง่ายขึ้นคนก็ไม่กลัว เพราะฉะนั้นแล้วเป็นเรื่องที่ชินแล้วร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็เลยหยุดกลัว
ส่วนไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และเกิดได้ในหลายรูปแบบ ตอนนี้ร่างกายยังสู้ไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะเสียชีวิตจากโควิด-19 นั้นมีอัตราต่ำมาก โดยอัตราการติดเชื้อทั้งโลก 81 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากแต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประชากรไม่ถึง 2% ที่ติดเชื้อ และที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตนั้นจริงๆแล้วส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวกับวัณโรค หรือพวกเปราะบาง เช่น ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ความดันสูง
อย่างไรก็ดี หากให้อำนาจในการคิดการตัดสินใจกับประชาชนโดยการให้ความรู้การป้องกันจะดีกว่าการควบคุม เช่น ที่ดูไบมีการเสียชีวิตจากโควิด-19 ประมาณ 600 กว่าคน ก็ถือว่าไม่มาก แต่ดูไบเปิดประเทศเลย เพราะทำมาหากินเรื่องท่องเที่ยว แล้วเปิดประเทศโดยวิธีป้องกันคือใครเข้าประเทศก็ตรวจCPRหาเชื้อเลย นั่นจึงเป็นระบบป้องกันมากกว่าระบบควบคุม
“การควบคุมมีราคาแพงต้องใช้เจ้าหน้าที่ทำให้การควบคุมแพงกว่าการป้องกัน ซึ่งวิธีการป้องกันยังถือเป็นการเปิดเศรษฐกิจด้วย แต่วิธีการควบคุมเป็นการปิดเศรษฐกิจทั้งหมด”
นายทักษิณ กล่าวอีกว่า ต้องการเห็นประเทศไทยใช้ระบบป้องกันให้ความรู้กับประชาชนอย่างชัดเจน อย่าตกใจกลัว แล้วป้องกันการ์ดอย่าตกเท่านั้นเอง ผู้ที่เป็นกลุ่มเปราะบางก็ให้อยู่บ้านก็จะเป็นการป้องกัน อีกทั้งเศรษฐกิจก็เปิดประชาชนก็ไม่เครียดสามารถออกไปทำมาหากินได้
“วันนี้ต้องหาความพอดีระหว่างความเป็นอยู่กับการป้องกันโรค ซึ่งจะเป็นวิธีไหนก็แล้วแต่รัฐบาลจะคิด บางทีรัฐบาลทำไปอาจจะมีเหตุผลของเขา ซึ่งตนก็ไม่อาจรู้ได้ถ้าดูจากภายนอกอยากเห็นเศรษฐกิจดีกว่านี้
ฉะนั้นต้องให้เศรษฐกิจเปิด ให้ตลาดเดินไปได้ไม่เช่นนั้นคนหาเช้ากินค่ำจะอยู่กันลำบาก ดังนั้นต้องมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการป้องกัน ไม่ใช่การควบคุมนั่นจะเอาไม่อยู่ เพราะเชื้อโรคไม่เชื่องแล้วเราก็ต้องมาใช้กำลังคนใช้เงินจำนวนมาก”
อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 นี้ จะเห็นพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนอย่างแรกคือ การให้ทำงานที่บ้าน หรือเวิร์คฟอร์มโฮม ซึ่งใช้คนงานน้อยลง เพราะราคาถูก สองเรียนหนังสือที่บ้าน เช่นที่สหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ไม่ได้ถามหาใบปริญญาเวลาไปสมัครงาน แต่จะถามหาประสบการณ์ ฉะนั้นต่อไปใบปริญญาจะสำคัญน้อยลง ที่แข่งกันเอาใบปริญญามาปิดฝาห้องเยอะๆ แต่ถามว่าได้อะไรไหมก็คงได้เป็นปริญญา หรือบางคนได้ความรู้ บางคนได้ตำราหนังสือ แต่มีบางคนได้ปริญญาได้ความสามารถมา ซึ่งมีน้อย ดังนั้นจึงส่งเสริมให้ทำจริงและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ดี และวิธีการเรียนก็จะเปลี่ยนไป
สามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือช้อปฟอร์มโฮมจะมากขึ้น ต่อไปศูนย์การค้าใหญ่ๆก็จะเป็นที่เดินเล่น แต่ซื้อของออนไลน์แทน และช่วงต่อไปนั้นจะทำมาหากินยากขึ้นจะมีหลายประเทศสร้างระบบป้องกันตัวเองแล้วเห็นแก่ตัวมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"WHO" รับรองวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันติดเชื้อโควิด-19ตัวแรกของโลก