"ประเสริฐ"อัด"จุรินทร์"ปล่อย"คนใกล้ชิด"ทุจริตถุงมือยาง

18 ก.พ. 2564 | 05:44 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2564 | 02:13 น.

"ประเสริฐ"อัด“จุรินทร์" ปล่อยละเลย"คนใกล้ชิด"ทุจริตเงินถุงมือยาง อคส. 2,000 ล้านบาท ระบุ“นายกฯ”ต้องถูกดำเนินคดี แม้สั่งย้ายแต่ไม่ตรวจสอบ-อายัดเงิน

วันนี้ (18 ก.พ.64) เมื่อเวลา 09.11 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร​เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล  เป็นวันที่สาม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ประเด็นการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งพบคนใกล้ชิด ได้แก่ นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส. อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมืออย่างเป็นขบวนการ ทำให้อคส.เสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ว่า การจัดซื้อถุงมือยางของ อคส. พบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย และขั้นตอนปฏิบัติปกติของราชการ และยังพบการทำสัญญาลวงกับ 7 บริษัทเอกชนที่ไม่เคยประกอบกิจการซื้อขายถุงมือยาง

กระบวนการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563  เมื่อ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย อคส.  แจ้งกับที่ประชุมซึ่งมี พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ อคส. ว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ว่า บริษัท เครเน็กซ์ ลอว์ ออฟฟิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหนังสือแสดงเจตจำนงซื้อถุงมือยาง จำนวน 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 230 บาท และ อคส.ได้เจรจาซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียน โกลฟ์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ทั้งที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ก่อนได้ทำสัญญา 2 เดือน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มี นายธณรัสย์ หัดศรี เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกพิพากษาคดีฉ้อโกงและคดีอาญา

โดยได้รับราคาเสนอขาย กล่องละ 225 บาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขในสัญญาอคส.ต้องชำระเงินล่วงหน้า จำนวน 2,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทการ์เดียน ต้องวางเงินประกัน 200 ล้านบาท ทำให้เรื่องดังกล่าวมีเงินทอน ถึง 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ในข้อสังเกตของตนมองว่าการเจรจาดังกล่าวไม่มีการสอบราคาไม่ได้ตรวจสอบและผิดขั้นตอน นอกจากนั้น พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ​ยังมีหนังสือตอบให้เร่งดำเนินการโดยด่วน

                                    

จากนั้นมีหนังสือเวียน แจ้งว่ามี 7 บริษัทเอกชนต้องการซื้อถุงมือยางจาก อคส. ได้แก่

1.บริษัทไทยสไมล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผักและผลไม้ จำนวน 52 ล้านกล่อง ๆ ละ 225 บาท รวมเงิน 11,700 ล้านบาท

2. บริษัทกาโลลี่ แมนเนจเม้นท์ จดทะเบียนที่รัฐฟอลิดา สหรัฐอเมริกา ซื้อ 100 ล้านกล่องๆ ละ 223 บาท รวมเป็นเงิน 22,300 ล้านบาท

3.บริษัทเครเนค ลอว์ ออฟฟิส เป็นบริษัทจดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซื้อ 500 ล้านกล่องๆ ละ 230 บาท รวมเป็นเงิน 115,000 ล้านบาท

ข้อสังเกตของ 3 บริษัทนี้ คือเป็นสัญญาลวง ไม่มีสัญญาจริงเพื่อสร้างข้อมูลเท็จว่ามีการสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ไม่พบการเรียกเงินมัดจำ หรือหลักประกันค้ำสัญญา ซึ่งผมมองว่าเป็นสัญญาลวง เพื่อต้องการอ้างเป็นเหตุว่า มีออร์เดอร์ และ อคส.จำเป็นเร่งด่วนการจัดหาถุงมือยาง จึงรีบเจรจากับบริษัทการ์เดียน 

4.บริษัท ควีนพาวเวอร์ คอมปานี จำกัด ซึ่งตรวจสอบที่ตั้งแล้วเป็นเพียสำนักงานกฎหมาย สั่งซื้อ 12 ล้านกล่องๆ ละ 210 ล้านบาท มูลค่า 2,520 ล้านบาท

5. บริษัท ทเวนตี้โฟว์ คลีน เอ็นเนอร์จี้  สั่งซื้อ 12 ล้านกล่องๆ ละ 215 ล้านบาท รวมมูลค่า 2,580 ล้านบาท

6.บริษัท เคเค ออยล์  จำกัด สั่งซื้อ 50 ล้านกล่อง ๆ ละ 220 ล้านบาท มูลค่า 11,000 ล้านบาท

และ 7. บริษัท เอ แอเมทิสต์ จำกัด สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง ๆ ละ 210 ล้านบาท มูลค่า 21,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อรวม 7 บริษัทจะมียอดสั่งซื้อ 826 ล้านกล่อง มูลค่า 186,100 ล้านบาท เฉลี่ยราคาต่อกล่อง 225 บาท ถือว่าขาดทุน

ตามที่นายจุรินทร์ ให้นโยบายว่าจะทำให้ไทยเป็นฮับถุงมือยางและช่วยชาวสวนยางมีรายได้ เพราะนำน้ำยางมาผลิต แต่ข้อเท็จจริงพบรายละเอียดสัญญาขายว่า เป็นถุงมือไนไตร ซึ่งถุงมือดังกล่าวทำมาจากกากปิโตรเลียม  ส่วนสัญญาซื้อจากบริษัทการ์เดียน พบรายละเอียดว่าเป็นถุงมือยางลาเท็กซ์ ที่ทำจากยางพารา ดังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จากสัญญาที่ อคส. ดำเนินการ และไม่ใช่การช่วยเกษตรกร

“นอกจากนั้นการทำสัญญายังไม่ผ่านอัยการสูงสุด และพบความเร่งรีบเร่งรัด ซึ่งผมเชื่อว่ากรณีนี้มีคนแกล้งโง่เพื่อหวังทุจริต และที่สำคัญกำลังการผลิตในประเทศไทย ทำได้เพียง 300 ล้านกล่องต่อปีเท่านั้น”

                             +++

สำหรับการเบิกเงิน 2,000 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากประจำของ อคส. และพันธบัตรนั้น สร้างความเสียหายกให้กับ อคส.  แต่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ในฐานะผู้อำนวยการอคส. โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ ว่า เป็นโอกาสที่อคส. จะทำกำไรจึงได้เบิกเงินส่วนดังกล่าวออกมาทั้งที่ไม่กี่เดือนจะได้รับดอกผล

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น นายจุรินทร์ ในฐานะผู้กำกับ อคส. ควรดูแลและกำกับตามกฎหมาย แต่ไม่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เคยมีข้อสังเกต และทักท้วงให้แก้ไข แต่ไม่เห็น นายจุรินทร์ ดำเนินการ ซึ่งผมเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. และ ศาล  กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

นายประเสริฐ อภิปรายด้วยว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้กำกับดูแล จะถูกแจ้งความดำเนินคดี ที่ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่ได้กำกับดูแล  ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ทำให้ประโยชน์ชาติและประชาชนเสียหาย แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะย้าย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ไปประจำสำนักนายกฯ ​แต่ไม่พบการตรวจสอบหรือสั่งอายัดเงิน จำนวน 400 ล้านบาทจากบริษัทเอกชน

"เชื่อว่านายกรัฐมนตรี ไม่กล้าปรับหรือดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวอย่างการทุจริตในรัฐบาล และผมเชื่อว่ามีการทุจริตอีกหลายกระทรวง เพราะเป็นฐานเสียงให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นพบการวางแผนร่วมมือทุจริตอย่างเป็นระบบ เพื่อนำเงินหลวง เป็นประโยชน์ต่อตนและพวกพ้อง” นายประเสริฐ ระบุ