ศาลตัดสินคดีม็อบ"กปปส." ชี้ชะตา 3 รัฐมนตรี พรุ่งนี้(24 ก.พ.)

23 ก.พ. 2564 | 05:33 น.

ศาลตัดสินคดีม็อบกปปส. ชี้ชะตา 3 รัฐมนตรี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-ถาวร เสนเนียม” 24 ก.พ.64 “นิพิฏฐ์” ชี้หากมีความผิด ต้องพ้นจากตำแแหน่งทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิกาคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และแกนนำกปปส. รวม 39 คน จากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2557 ซึ่งมีการกระทำความผิด 9 ข้อหาที่รวมถึงการร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีจำเลยส่วนหนึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ส.ส.อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ ที่สำคัญ มีผู้ที่เป็นรัฐมนตรีด้วย 3 คน คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

จึงต้องติดตามว่าคำตัดสินของศาล จะมีผลต่อการชี้ชะตาคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ที่อาจนำไปสู่การปรับครม.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีการติดตามรอฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันพรุ่งนี้ (24ก.พ.) เช่นกัน แม้คดีนี้เป็นการตัดสินของศาลอาญา แต่เนื่องจากโจทย์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วย จึงถือว่าสำคัญมาก โดยแนวทางคำตัดสินคดีนี้ มี 3 ทาง คือ

1.จำคุกและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

2.รอโทษจำคุก แต่สั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

3.ศาลสั่งยกฟ้อง 

หากศาลสั่งจำคุกและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง หรือถ้าสั่งรอลงอาญา แต่ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง จะทำให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เพราะหมดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด

อย่างไรก็ตามหากมีผู้นำเรื่องยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสภาพความเป็น ส.ส.ว่าจะหมดไปทันที หรือต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน ประเด็นนี้มีบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลฯ ในคดีของนายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกและเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง จากกรณีการทุจริตกรเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช

ส่วนผู้ที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าศาลอาญาตัดสินว่ามีความผิด ก็ต้องพ้นจากตำแแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) ที่บัญญัติว่าไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: