สังคมไทยพูดถึงการปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนในส่วนของกองทัพก็ถูกจับตามองถึงเรื่องการปฎิรูปเช่นเดียวกัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแวดวงทหารเกิดขึ้น เมื่อ “บิ๊กแก้ว” พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้เน้นย้ำให้ทุกเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถของหน่วยในการพึ่งพาตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายกระทรวงกลาโหม และเตรียมกำลังพลให้พร้อมตามแผนป้องกันประเทศ
ที่สำคัญได้หารือเรื่องการปรับโครงสร้างระบบงานของกองบัญชาการกองทัพไทย ตามแนวทางของกระทรวงกลาโหม ว่า หากได้รับภารกิจใหม่จะให้หน่วยที่มีภารกิจใกล้เคียงกันรับทำหน้าที่ไป ให้ยุบหน่วยที่ไม่จำเป็นและให้ชะลอการตั้งหน่วยใหม่ ลดการแต่งตั้งนายทหารปฏิบัติการ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ อย่างเคร่งครัด เมื่อเกษียณราชการแล้วก็ไม่บรรจุเพิ่ม คาดว่าจะสามารถลดจำนวนนายทหารชั้นนายพลได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มจากบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเดือนเมษายนนี้
การปรับลดแต่งตั้งนายทหารเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความคาดหวังจะให้เกิดขึ้น เพราะกองทัพบ้านเรามี "นายพล" เยอะเกินไปหรือไม่ เมื่อปี 2563 เคยมีสื่อต่างประเทศ “นิคเคอิ เอเชียน รีวิว” จากญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานพิเศษหัวข้อ "ประเทศไทย : ดินแดนนายพลนับพัน (Thailand: Land of a thousands generals)" เขียนโดยโดมินิค ฟอลเดอร์
มีการอ้างงานวิจัยของ “พอล แชมเบอร์ส” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า สัดส่วนของนายพลไทยต่อจำนวนกำลังพล อยู่ที่ 1: 660 นาย ในจำนวนกำลังพลนั้น งานวิจัยประเมินว่ามีจำนวนราว 551,000 นาย แบ่งเป็นกำลังพลที่ประจำการอยู่ 306,000 นาย และที่เป็นกำลังสำรองอีก 245,000 นาย ขณะที่สหรัฐฯ สภาคองเกรสได้จำกัดจำนวนนายทหารระดับนายพลเอาไว้ ทำให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1,600 นาย
สำหรับจำนวนนายทหารในประเทศไทยที่ถูกเลื่อนขั้นเป็นนายพลนั้นมีแนวโน้มลดลง อ้างอิงข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษาว่า ในปี 2562 มีการเลื่อนยศทหารขึ้นเป็นนายพล 789 นาย น้อยกว่าเมื่อปี 2560 ที่ 944 นายและปี 2557 ที่ 980 นาย
สาเหตุที่มีนายพลจำนวนมากมาจากภารกิจการปกป้องอธิปไตยของชาติ และรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทำให้รัฐบาลกำหนดให้ต้องผลิตกำลังพลจำนวนมาก โดยเฉพาะในสมัยที่ต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ปี พ.ศ. 2515 และเพราะไม่มีระบบเกษียณก่อนอายุราชการ จึงทำให้ต้องอยู่ในกองทัพจนเกษียณ นอกจากนั้นการให้ยศนายพลหลายกรณีทำไปเพื่อเป็นเกียรติประวัติก่อนเกษียณถือเป็นการตอบแทนคนที่ไม่ได้ทำผิดและเคยผ่านสมรภูมิ
จากสถิติจำนวนนายพลเฉพาะที่ปรากฏในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายรอบ 10 ปี พบว่า ปี 2551 จำนวน 556 คน ปี 2552 จำนวน 568 คน ปี 2553 จำนวน 530 คน ปี 2554 จำนวน 584 คน ปี 2555 จำนวน 811 คน ปี 2556 จำนวน 861 คน ปี 2557 จำนวน 1,092 คน ปี 2558 จำนวน 831 คน ปี 2559 จำนวน 798 คน ปี 2560 จำนวน 990 คน ปี 2561 จำนวน 935 คน ปี 2562 จำนวน 789 คน
สำหรับบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารทำราชการประจำปี พ.ศ. 2563 ประกาศราชกิจจา นุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 มีจำนวน 792 คน ประกอบด้วย ข้าราชการในกระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองบัญชาการกองทัพบก กองบัญชาการ กองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพอากาศ แบ่งเป็นเฉพาะระดับนายพล 508 คน
ทีมข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ลองนับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาในบัญชี แต่งตั้งโยกย้าย พ.ศ. 2563 เฉพาะยศนายพล พบว่ามี 172 คน แบ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ 131 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 13 คน และที่ปรึกษาทั้งพิเศษและธรรมดา 28 คน ที่ไม่ปรากฏสังกัดเฉพาะแน่นอน ยังไม่นับรวมระดับพันเอกที่นั่งตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนไม่น้อย และนี่ก็ยังไม่ใช่จำนวนนายพลทั้งหมดในกองทัพเพราะยังมีนายพลที่ไม่ถูกโยกย้ายด้วย
เมื่อดูข้อมูลของแต่ละเหล่าทัพ พบว่ากองบัญชาการกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่มีนายพลในตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ” มากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 38 คน
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒินั้น มีทั้ง “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ” และ“ผู้ทรงคุณวุฒิ” ธรรมดา ประชาชนคนนอกกองทัพก็อาจจะสงสัยว่าแตกต่างกันอย่างไร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มียศ “พลโท” กับ “พลเอก” ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเฉยๆ มียศ “พลตรี”
จากข้อมูลพบว่าในบางครั้งกองทัพใช้ตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทั้งพิเศษและธรรมดา เพื่อพักรอคนที่เหมาะสมขึ้นตำแหน่งหลักในบัญชีโยกย้ายปีถัดไป ส่วนนายพลที่หลุดโผหรืออายุราชการไม่ถึงก็มอบตำแหน่งให้เหมือนเป็นรางวัลตอบแทนระหว่างรอเกษียณ
อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็คือนายพลบ้านเราได้ค่าเหนื่อยกันคนละเท่าไหร่
ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันโอชามีการปรับเพิ่มเงินเดือนโดยผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ดังนี้
ระดับ น.6 (พลตรี/พลเรือตรี/พลอากาศตรี) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 32,378 บาท จากเดิม 29,980 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 67,760 บาท จากเดิม 62,080 บาท
ระดับ น.7 (พลโท/พลเรือโท/พลอากาศโท) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 37,897 บาท จากเดิม 35,090 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 72,965 บาท จากเดิม 67,560 บาท
ระดับ น.8 (พลเอก/พลเรือเอก/พลอากาศเอก) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 42,217 บาท จากเดิม 39,090 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 72,965 บาท จากเดิม 67,560 บาท
ระดับ น.9 (อัตราจอมพลเดิม) ปรับเพิ่มระดับต่ำสุดเป็น 56,117 บาท จากเดิม 51,960 บาท ส่วนระดับสูงสุดปรับเพิ่มเป็น 76,604 บาท จากเดิม 70,930 บาท
สำหรับอัตราจอมพลคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. .… โดยยกเลิกอัตรายศจอมพล แต่ยังคงได้รับเงินเดือนในอัตราระดับ น.9 เหมือนเดิม สำหรับอัตราจอมพลนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม จะรับเงินเดือนอัตราจอมพล (น.9) แต่ไม่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯยศจอมพล
เมื่อกางงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2562 – 2564 แยกตามหน่วยรับงบประมาณที่เป็นกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสำหกิจ หน่วยงานอื่นๆ พบว่ากระทรวงกลาโหมติด 1 ใน 4 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุดจากทั้งหมด 33 กระทรวง / หน่วยงาน โดยอันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม ตามลำดับ
สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม พบว่า ปี 2564 ได้รับงบประมาณ 214,530,648,400 บาท ลดลงจากปี 2563 17,214,624,700 บาท จากที่ได้รับงบประมาณ 231,745,273,100 บาท และลดลงจากปี 2562 12,595,917,900 บาท จากที่ได้รับงบประมาณ 227,126,566,300 บาท
เฉพาะในส่วนงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหม พบว่า ปี 2564 มีรายจ่ายจำนวน 103,293,647,600 บาท ลดลงจากปี 2563 1,388,557,200 บาท จากที่ได้รับจำนวน 104,682,204,800 บาท ลดลงจากปี 2562 2,682,919,500 บาท จากที่ได้รับจำนวน 105,976,567,100 บาท
ก่อนหน้านี้กองทัพมียุทธศาสตร์ลดขนาดกำลังพลอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าลดลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบันภายในปี 2572 ให้คงเหลือนายพลในสายบังคับบัญชาที่เป็นตำแหน่งหลัก หากเป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวและที่ประชุมกันล่าสุดนี้ สังคมก็คงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงกำลังพลในกองทัพในไม่ช้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :