ลุ้นศาล ‘ผ่าทางตัน’ แก้รัฐธรรมนูญวันนี้

10 มี.ค. 2564 | 23:00 น.

ลุ้นศาลรธน. “ผ่าทางตัน” ตั้งส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ 11 มี.ค.นี้ “ชวน” หวังศาลออกทางบวก แจ้งครม.ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 17-18 มี.ค. “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ชำแหละ 5 ด่านหินแก้รัฐธรรมนูญ  

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “สมาชิกรัฐสภา” เห็นชอบร่วมกันให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเดิน หน้าต่อไปได้ หรือ ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยลงมติของ “9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มี นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 นี้

โดยในวันดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ได้กำหนดนัดด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในเวลา 09.30 น.

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1)

และศาลฯ ได้รับหนังสือความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ 4 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต รวมทั้งหนังสือความเห็นของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และคณะ ที่ยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นแล้ว

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) ซึ่งที่ประชุมของรัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและประธานรัฐสภา ส่งเรื่องต่อศาล ไม่ใช่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาล จึงสั่งรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณา

และศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและกำหนดนัดด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.

 

5 ด่านหินแก้รธน.  

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ จะต้องฝ่าฟันใน 5 ด่านสำคัญ คือ

ด่านที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มีนาคมนี้

ด่านที่ 2 ที่ประชุมรัฐสภา จะต้องลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง

ด่านที่ 3 ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนโดยต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ พรบ.ประชามติ ยังมีเงื่อนไขสำคัญ คะแนนเห็นชอบต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิอีกด้วย

 

ลุ้นศาล ‘ผ่าทางตัน’ แก้รัฐธรรมนูญวันนี้

 

ด่านที่ 4 หลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านประชามติและประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งในลักษณะเดียวกับเลือกตั้ง ส.ส. มี ส.ส.ร.ได้เขตละคน เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะไปเกี่ยวพันกับอำนาจหรืออิทธิพลในท้องถิ่นรวมไปถึงการโยงใยกับการเมืองในระดับชาติ

สุดท้าย ด่านที่ 5 เมื่อส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ จะต้องให้ประชาชนเห็นชอบโดยต้องทำประชามติอีกครั้ง ในเงื่อนไขเดียวกับด่านที่สาม หากผ่านประชามติก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายชูศักดิ์ ระบุว่า “ด่านที่สำคัญที่สุด” จะอยู่ในสองด่านแรก คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และการลงมติในวาระที่ 3 ของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งต้องให้ ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 3 คือไม่น้อยกว่า 84 คน เห็นชอบด้วย หากผ่านด่านนี้ไปได้จึงจะมี ส.ส.ร. ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมาทำหน้าที่ยกร่าง “รัฐธรรมนูญของประชาชน”

 

หวังศาลออกทางบวก

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่า ได้ประสานไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อขอเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจรัฐสภา ในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งส.ส.ร.มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากยังมีเรื่องอื่นๆ ที่รัฐสภา จะต้องพิจารณานอกเหนือจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ, ร่างพ.ร.บ.การเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นต้น

นายชวน ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึงขั้นตอน ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ โดยกล่าวว่า ไม่ขอพูดอะไรล่วงหน้าในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวยังขอมองไปในทิศทางบวกไว้ก่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทางสภาได้ประสานขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระสาม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทางสภาก็มีเรื่องอื่นที่ต้องพิจารณา 3 เรื่อง

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเข้าสภาพิจารณาเร่งด่วน จะใช้เวลาครึ่งวัน ส่วนที่เหลืออีกวันครึ่ง ไว้พิจารณากฎหมายอื่น 3 ฉบับ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องโหวตอยู่แล้วเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งทางสภาก็ต้องแจ้งทางสมาชิกล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ให้มาประชุม

ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุหากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ มีทางออกคือแก้เป็นรายมาตรา นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ใช่ แต่ไม่มีใครพูดใน ครม.วันนี้ (9 มี.ค.64) 

 

ครป.หวั่นแก้รธน.สะดุด

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งระบุว่า ครป. เห็นว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว ความขัดแย้งในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย สมาชิกควรหาทางออกร่วมกันในกลไกรัฐสภาได้ เช่น ประสบการณ์ในอดีตและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 โดยไม่ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตีความอำนาจรัฐสภาโดยเฉพาะที่ เกี่ยวพันกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง

หากมีการชี้นำไปในทางที่ผิดจะกลายเป็นความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด เนื่องจากมติของศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลถึงรูปแบบการเมืองการปกครองและวิกฤติประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้น และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเมืองไทยได้เดินหน้าต่อไปหรือนำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้ง

ครป.ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เดินหน้าตามกลไกรัฐสภา และนำไปสู่การแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นชี้นำว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่า ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทั้งฉบับไม่ได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เท่านั้น ก็ต้องผูกพันตามนั้น ถือเป็นการชักจูงทางการเมืองและสอดคล้องกับความเห็นของ 4 นักกฎหมายที่เห็นว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็น ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ในที่สุด และทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มต้นใหม่ 

ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้น ครป. จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เดินหน้าด้วยการยอมรับจากทุกฝ่าย

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,660 หน้า 12 วันที่ 11 - 13 มีนาคม 2564