“วิษณุ” หวั่น ไทม์ไลน์ ส.ว. ร่วมโต๊ะทูตญี่ปุ่น ส่อกระทบประชุมร่วมรัฐสภา

05 เม.ย. 2564 | 06:15 น.

“วิษณุ” กังวล ไทม์ไลน์ ส.ว. ร่วมโต๊ะทูตญี่ปุ่นอาจกระทบประชุมรัฐสภาที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 7 เม.ย.นี้ ย้ำชัด รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ม็อบเพราะประเทศมีหลายโจทย์

5 เมษายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีรัฐมนตรีเข้าไปในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ร่วมห้องกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ว่า ตนไม่ได้ไปทองหล่อแต่ไปวัดธาตุทองซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน ไม่มีอะไรน่ากังวล ทั้งยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่า มี ส.ว.ร่วมรับประทานอาหารกับทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ติดโควิด-19 ว่า เรื่องนี้น่าเป็นห่วงกว่าโดยเฉพาะการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่จะมีขึ้นวันที่ 7-8 เม.ย. นี้ว่าจะกระทบหรือไม่

สำหรับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความจริงใจ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนั้น นายวิษณุ บอกว่า ตนไม่ทราบ แต่รู้ว่าขณะนี้ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอร่างแก้ไข ไม่ได้เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมอีก 2-3 พรรค จะไปเสนอกันเองอีก เพราะแต่ละพรรคมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันคนละมุม ส่วนรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้

ต่อข้อซักถามที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลควรต้องเสนอในนามรัฐบาลหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าได้จะเป็นการดีเพียงแต่ประเด็นอะไรเท่านั้นเอง เพราะในนโบบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่ได้ระบุว่า แก้เรื่องอะไรซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเคยคุยกันเมื่อร่างนโยบายใหม่ ๆ แต่หลังจากนั้นไม่ได้พูดกันอีก หรือพูดกันตนก็ไม่ทราบ เพราะตนไม่ได้ไปหารือด้วย ถามว่าถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ถือว่า รัฐบาลผิดคำพูดที่ให้ไว้กับรัฐสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนข้อ 12 เขียนว่าอย่างไรอยากให้ลองกลับไปดูเพราะเป็นการเขียนที่พินิจพิจารณากันแล้วว่า จะไม่ทำผิดอันนั้น

เมื่อถามว่า ได้ประเมินกระแสสังคมหรือไม่ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ตอบโจทย์ของผู้ชุมนุม นายวิษณุ กล่าวว่า ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ม็อบ แต่อยากถามว่าทำไมต้องไปตอบโจทย์ม็อบ เพราะโจทย์อื่นๆ ของประเทศมีเยอะ ถ้ามองกันคนละมุมก็ไปคนละมาตรา แต่ใครจะคิดอย่างไรก็เสนอไปก็แล้วกัน

ส่วนกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุจะไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่พรรคเสนอ 5 ประเด็น 13 มาตรา นายวิษณุ ตอบว่า ตนไม่รู้ว่านายไพบูลย์ พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ อาจหมายถึงเขาคนเดียว ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล ถ้าเป็นร่างของรัฐบาลก็ต้องโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนแถลง

สำหรับกรณีผู้ชุมนุมมองว่ารัฐบาลนิ่งเฉยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนทำให้ความขัดแย้งลุกลามมาถึงปัจจุบัน นายวิษณุ กล่าวว่า รับทราบ ไม่รู้ แต่ตอบไม่ถูก จะแย่ลงหรือไม่อยู่ที่การประเมิน อย่างน้อยตนก็ฟังคนหนึ่ง เมื่อฟังแล้วก็ต้องคิด ถาม เขียน หรือ สุ จิ ปุ ลิ แต่ยังไม่คิดว่าจะนำไปพูดคุยใน ครม. ต่อหรือไม่ เพราะสื่อมาถามกะทันหันจึงยังไม่ได้คิด นึกไม่ออก

เมื่อถามว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ / นายวิษณุ กล่าวว่า สิ่งที่เขาเรียกร้องมารัฐบาลต้องฟังอยู่แล้ว อย่างน้อยผ่านหูผ่านตามาก็ต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร แล้วคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปประเมิน

ทั้งนี้ สำหรับนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาลมีเนื้อหาว่า สนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น” ประจำประเทศไทย ติดโควิด-19

"ม็อบจตุพร"ย้ำจุดยืนชุมนุม 4 เมษา ไม่แตะ ม.112 

"จักรทิพย์" ยืนยันลงสมัครผู้ว่า ฯ กทม. ในนามอิสระ

“จตุพร”ลั่นได้เวลานับหนึ่ง“บิ๊กตู่”ต้องออกไป

เหรียญอีกด้าน “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” กับข้อกังขาของสังคม