คดีของ “ม็อบกลุ่มราษฎร” นับแต่ชุมนุมมา ถูกดำเนินคดียอดพุ่ง 581 คน ใน 268 คดี เฉพาะมี.ค. 64 เดือนเดียวถูกดำเนินคดีเกือบ 200 ราย
การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่พัฒนามาเป็น “กลุ่มราษฎร” นับแต่เริ่มชุมนุมมา มีผู้ถูกดำเนินคดีมากมายในหลายข้อหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประมวลสถิติตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึง 31 มี.ค. 2564 รวมเวลากว่า 8 เดือน มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 581 คน ในจำนวน 268 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือน ก.พ. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 199 คน และคดีเพิ่มขึ้น 61 คดี ประกอบด้วย
1. ข้อหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 ผู้ถูกกล่าวหา 82 คน จำนวน 74 คดี
2. ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 116 ผู้ถูกกล่าวหา 103 คน จำนวน 26 คดี
3. ข้อหามั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 ผู้ถูกกล่าวหา 171 คน ใน 35 คดี
4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ถูกกล่าวหา 444 คน ใน 128 คดี แยกเป็นคดีใน กทม. 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 105 คดี
ตั้งแต่พ.ค.- มิ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมกัน 457 คน ใน 136 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 87 คน ใน 62 คดี
6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 35 คน ใน 40 คดี
จากจำนวน 268 คดีดังกล่าว มี 41 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังพบในช่วงเดือนมี.ค. 2564 มีการดำเนินคดี
1. คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นกว่า 27 คดีในเดือนเดียว มีผู้ถูกดำเนินคดี 22 คน ใน 27 คดี รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 82 ราย ใน 74 คดี มีการจับกุมทั้งในรูปแบบมีหมายจับและไม่มีหมายจับ อย่างน้อย 9 กรณี ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างการฝากขังในชั้นสอบสวน 7 ราย รวมทั้งแกนนำราษฎร ที่ถูกสั่งฟ้องเพิ่มเติมในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ก็ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาในชั้นศาลเพิ่มเติมอีก 3 ราย ทำให้จนถึงต้นเดือนเม.ย. 2564 มีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 14 คน
การดำเนินคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หลังกลับมาใช้ ม.112 พบว่าเป็นคดีจากการปราศรัยเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีคดีใหม่ที่เกิดขึ้น 15 คดี จาก 27 คดี รวมถึงคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19
2. การจับกุมผู้ชุมนุมหรือผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. 64 เดือนเดียวมีการจับกุมใน 3 เหตุการณ์ ได้แก่
เหตุการณ์จับกุมทีมการ์ด WeVo ที่บริเวณเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 จำนวน 48 คน, เหตุการณ์จับกุมในการสลายการชุมนุม ม็อบ 20 มีนา ของกลุ่ม REDEM บริเวณสนามหลวงและใกล้เคียง รวม 32 คน, เหตุการณ์จับกุมผู้ชุมนุมกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 28 มี.ค. 64 รวม 99 คน
3. สถิติเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า ในเดือนเดียว
ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี พบว่าเป็น กลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 31 ราย การจับกุมทีมการ์ด WeVo เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 พบการจับกุมเยาวชน 3 ราย, การจับกุมม็อบ 20 มีนา 7 ราย, การจับกุมหมู่บ้านทะลุฟ้า มีเยาวชน 6 ราย รวมทั้งการออกหมายเรียกจากการชุมนุมย้อนหลัง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปว่า เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่เคยถูกดำเนินมาก่อนหน้านี้ ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอายุของเยาวชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็ค่อยๆ ลดลงด้วย เมื่อพบว่าเดือนมี.ค. มีเยาวชนอายุ 14-15 ปี ถูกดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินคดีเยาวชนอายุ 14-15 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย