วันที่ 30 เม.ย.2564 นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม. รองรับการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 จากวันที่ 17 พ.ค. เป็นวันที่ 1 มิ.ย.64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 64 ทำให้วันเปิดภาคเรียนล่าช้าไปจากเดิมประมาณ 2 สัปดาห์ คิดเป็นวันเรียนประมาณ 10 วัน ซึ่งโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนชดเชยให้ครบตามหลักสูตรได้ ภายหลังจากเปิดการเรียนการสอนแล้ว
โดยจะสอนชดเชยที่โรงเรียน หรือผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามความพร้อมของผู้เรียนในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง หรือผสมผสานกันในรูปแบบ 5 On ได้แก่ 1.On Line ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ 2.On Air ทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เช่น DLTV 3.On Hand จัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานที่โรงเรียนจัดทำขึ้นไปยังนักเรียนผ่านผู้ปกครอง 4.On Site จัดการเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และเรียนในสถานที่ที่ปลอดภัย และ 5.On School Line โดยใช้ช่องทาง Group Line ของแต่ละห้องเรียนเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างครูประจำชั้นกับผู้ปกครองและนักเรียน รวมถึงใช้เป็นช่องทางการมอบหมายงาน หรือส่งการบ้าน
ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน สภาพแวดล้อม/ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยและสอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันได้เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในที่สถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของนักเรียน หรือหากมีการรวมกลุ่มต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและใช้เวลาน้อยที่สุด จำกัดจำนวนผู้ปกครองและบุคคลที่จะเข้าภายในบริเวณโรงเรียนเพื่อลดความแออัด กรณีที่ผู้ปกครองมารับบุตรหลานที่โรงเรียน ต้องจัดพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียน
รวมทั้งจัดให้มีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของโรงเรียน และผู้มาติดต่อราชการทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย 3 ครั้ง/1วัน คือ ก่อนเข้าโรงเรียน ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน และก่อนเดินทางกลับบ้าน พร้อมทั้งประสานผู้ปกครองให้ตรวจคัดกรองบุตรหลานก่อนพามาโรงเรียน หากมีอาการไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นใดให้นักเรียนหยุดเรียน เพื่อเฝ้าดูอาการที่บ้าน หรือพบแพทย์ โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักเรียนให้โรงเรียนทราบด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้มาติดต่อราชการ ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกคนตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันต้องเว้นระยะห่างในห้องเรียน ระหว่างทางเดิน หรือในขณะทำกิจกรรมในโรงเรียน การย้ายห้องเรียน การเหลื่อมเวลาเรียน หรือเวลาพักรับประทานอาหาร รวมทั้งจัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกโรงเรียนให้เพียงพอต่อการใช้งาน
โดยให้คุณครูสอนวิธีการล้างมือ 7 ขั้นตอน 20 วินาที ตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และให้โรงเรียนหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน อาทิ สนามเด็กเล่น ห้องน้ำลูกบิดประตู อาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนโดยสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตลอดจนให้คำแนะนำผู้ปกครองติดตามข้อมูลข่าวสารการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ กรณีโรงเรียนพบนักเรียนที่สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) ให้แยกเด็กออกมาจากผู้อื่น จากนั้นแจ้งผู้ปกครองและแจ้งสายด่วนสุขภาพ 1646 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ หรือแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์ตามเกณฑ์สอบสวนโรคต่อไป