กกต.ลุยถกต่อปมร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง“อบจ.-เทศบาล”

30 เม.ย. 2564 | 06:32 น.

กกต.ลุยพิจารณาเรื่องร้องเรียนทุจริต “เลือกตั้ง อบจ.-เลือกตั้งเทศบาล”ต่อ หลังผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 รอบสอง มั่นใจไม่น่าติดเชื้อเพิ่ม หลังรอบแรกไม่มีอาการ  

วันนี้(30 เม.ย.64) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่และพนักงาน กกต. ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา  เลขาธิการ กกต. ได้เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 รอบที่สอง หลังครบ 7 วัน จากการตรวจเชื้อรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่เป็นการตรวจ เพราะพบว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ติดเชื้อและเข้ารักษาตัว   

โดยวันนี้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ได้มาตั้งจุดตรวจตั้งแต่ช่วงเช้า  และใช้เวลาไม่นาน  เนื่องจากเป็นการตรวจในรอบที่สอง  และสำนักงานฯมีหนังสือเวียนแจ้งให้เจ้าหน้าที่และพนักงาน กกต.ทราบก่อนหน้านี้เพื่อเตรียมตัวแล้ว  

ในการตรวจรอบที่สองมี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายปกรณ์ มหรรณพ  และนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ  นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี  และ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการเลือกตั้ง รวมทั้ง นายกฤช เอื้อวงศ์ นายแสวง บุญมี  นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.ก็เข้ารับการตรวจด้วย รวมถึงผู้อำนวยการสำนักต่างๆ เจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องจากการเข้าร่วมประชุม กกต.และการประชุมต่างๆ ของสำนักงาน   

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ กกต.ตรวจหาเชื้อเสร็จ ก็ได้เข้าประชุม กกต.ทันที เนื่องจากเป็นการเร่งพิจารณาในเรื่องการร้องเรียนการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการ “เลือกตั้ง อบจ.” และการ “เลือกตั้งเทศบาล” หลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้งในส่วนของผู้ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนไปครบหมดแล้ว  

นายกฤช เอื้อวงศ์  รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการตรวจซ้ำรอบที่สอง  ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้เกิดความมั่นใจจากการตรวจเชื้อในครั้งแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบแรก โดยมี กกต. และเจ้าหน้าที่รวมกว่า  135  คน  ทั้งนี้ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเจ้าหน้าที่   แต่ไม่น่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม เพราะเท่าที่สอบถามหลังตรวจเชื้อครั้งแรก   ก็ไม่พบว่ามีผู้แสดงอาการที่เข้าข่าย     
 

ส่วนการทำงานของ กกต.ยังมีภารกิจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในช่วงของการกักตัว จึงได้มีหนังสือขออนุญาตไปที่กรมควบคุมโรค  ถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากพ้นระยะการกักตัว ก็อยู่ที่การพิจารณาของ กกต.ว่า หากมีความจำเป็นเราก็จะเร่งทำงาน เพราะมีกรอบเวลาตามกฎหมายอยู่ด้วย ที่ต้องประกาศผลเลือกตั้งรอบแรกใน 30 วัน   และกรอบอีกภายใน 30 วัน ที่ต้องเร่งพิจารณาเรื่องร้องเรียน      

ส่วนการทำงานที่บ้าน สำนักงาน กำลังเสนอให้ กกต.พิจารณาว่าจะลดจำนวนคนมาทำงานที่สำนักงานอย่างไรในช่วงวันที่ 1-14 พ.ค. แบบเต็มกำลัง ยกเว้นส่วนงานที่มีภารกิจตามกฎหมาย  ก็อาจจะมาเท่าที่จำเป็น  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :