“ดร.กนก”ห่วงหนี้รัฐบาลสูงเกินจีดีพี ต้องใช้เวลาถึง 81 ปี เพื่อชำระ แนะยกระดับผลิตภาพ การแข่งขัน

31 พ.ค. 2564 | 08:20 น.

“ดร.กนก”ห่วงสถานะการคลังของประเทศ หลังพบหนี้รัฐบาล-หนี้ประชาชนสูงกว่า 13 ล้านล้านบาท เกินจีดีพี 86.6% ใช้เวลา 81 ปี เพื่อชำระหมด แนะยกระดับผลิตภาพ การแข่งขัน

วันนี้(31 พ.ค.64) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก ว่า สถานะการเงินของประเทศ รัฐบาลตั้งรายได้สุทธิของประเทศในปี 2565  ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท แต่พบหนี้สาธารณะ จำนวน 8.195 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ถึง 2.1 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบเพื่อชำระเงินกู้ จำนวน  1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,000 ล้านบาท 

ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.6% ของจีดีพี และเมื่อรวมหนี้รัฐบาลรวมกับของประชาชน จะมีมากกว่า 21 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีของประเทศ เรียกว่าหนี้ท่วมรายได้ โดยรัฐบาลมีหนี้สูงกว่ารายได้มากถึง 3.3 เท่า  และต้องใช้เวลา 81 ปี เพื่อชำระหนี้สิน 

ดร.กนก กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน และอีก 10 ปีจากนี้ ปัญหาของประเทศและประชาชน มี 3 ประการ คือ 

1.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ถึงจุดวิกฤต เพราะมีปัญโควิด-19 เป็นตัวแร่ง

2.การเป็นหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ที่จะทำให้คนไทยมีภาวะลำบาก หนี้ท่วมรายได้อย่างน้อยย 10 ปี 

และ 3.ผลิตภาพที่แข่งขันไม่ได้ในระยะยาว ไม่มีการพัฒนา ดังนั้นทุกกระทรวงต้องเร่งแก้ปัญหา ผ่านการจัดสรรงบประมาณ 
 

“ผมขอฝากคำเตือนงบประจำปีนี้ ว่า เมื่อรายได้ไม่เพิ่ม แต่หนี้เพิ่ม วิกฤติเศรษฐกิจตามมา เมื่อผลิตภาพไม่โต ประเทศแข่งขันไม่ได้ และล้าหลัง ในที่สุด งบประมาณแต่ละกระทรวงต้องแก้ปัญหาประชาชนอย่างมีความรู้และแม่นยำ เพราะงบมีจำกัด ในสถานการณ์ประเทศที่มีโควิด-19 ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และปัญหาระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นจุดอ่อนของการแก้ปัญหาประเทศ”

ดร.กนก ยังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณ ว่า สำนักงบประมาณ ไม่สามารถจัดงบประมาณได้ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนและประเทศ และจัดทำงบตามกรอบของตนเองเป็นหลัก 

“ผมมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นทางรอดของเศรษฐกิจ ว่า สำหรับการเพิ่มงบประมาณของรัฐบาล คือการยกระดับผลิตภาพ การแข่งขัน มีนวัตกรรม ไม่ใช่เพิ่มรายได้จากการกู้ ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณ ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ ไม่ใช่กระจุกที่สำนักงบประมาณ” ดร.กนก แนะนำ 

นอกจากนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ประเมินผลสำเร็จของงบประมาณ เพราะไม่มีงบประมาณตรวจความสำเร็จของงบประมาณรายปี ดังนั้นทางแก้ไข คือให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ นอกจากมองว่าสำนักงบประมาณ, สตง. และ กรมบัญชีกลาง ต้องร่วมวิเคราะห์ปัญหาเพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล 

 

 

ด้าน นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ อภิปรายว่า ต้องปรับทิศทางการจัดสรรงบประมาณ หลังพบว่าจัดสรรให้กับโครงการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งนี้ปัจจุบันวิกฤติที่เผชิญ คือ  เชื้อโรคโควิด-19 พบว่าการใช้งบประมาณเป็นไปแบบไร้เป้าหมาย ไม่ต่างจากคำด่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมมนตรี และรมว.กลาโหม ด่ารัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ 

“สิ่งที่อยากเห็นไม่ใช่อยากเห็นคำว่าใช้งบทันเวลาหรือไม่ แต่อยากเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง พ้นความยากจน มีอนาคตที่ไม่มืดมน บางอยากไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลา ไม่ตรงความต้องการประชาชน มีแต่คนใกล้ชิดรัฐบาลที่ได้ประโยชน์” 

อย่างไรก็ตาม สงครามสุขภาพ เรื่องการใช้งบประมาณต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ต้องพิจารณาว่าปัญหาด้านไหนมีมาก เราก็ควรให้งบประมาณในส่วนนั้นเพื่อให้ผ่านวิกฤติไปให้ได้ ซึ่งงบครั้งนี้ผมรับไม่ได้ และขอให้ปรับปรุงแล้วกลับมาเสนอที่สภาใหม่" นายสงคราม ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :