ไม่รู้ว่า เป็นคดีแรกใน “ประวัติศาสตร์” หรือไม่ ที่ผู้มีตำแหน่งระดับ “ประธานศาลฎีกา” ถูกฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ ม.91
ถ้าหากยังไม่เคยมีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้น ครั้งนี้จะถือเป็นครั้งแรก
โดยเป็นกรณีที่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค 1 ปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฏีกา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง
คดีดังกล่าวเกิดจากกรณีประธานศาลฎีกา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 วันที่ 25 มี.ค.2564 กรณี นายปรเมษฐ์ โจทก์ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือ เเทรกเเซงการ พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อท. 48/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค 1
ตอนหนึ่งของคำฟ้องระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น เป็นการกระทำปฏิบัติหน้าที่ในการดําเนินการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ อย่างเร่งรีบรวบรัด ด่วนสรุปความเห็นเพียงไม่กี่วันทําการราชการหลังจากวันได้รับการแต่งตั้ง หากโจทก์เข้าชี้แจงและนําพยานหลักฐานต่างๆ เข้าสืบในข้อที่เป็นผลร้ายต่อโจทก์นั้นแล้ว
ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในประเด็นสําคัญโดยตรงในการที่โจทก์มีสิทธิชี้แจงและนําพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายนั้นตามสิทธิ์ของโจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตลอดทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาค
คำฟ้องระบุด้วยว่า จําเลยบังอาจ กระทําความผิดกล่าวคือ สํานักงานศาลยุติธรรม โดยจําเลยประธานศาลฎีกา มีคําสั่งที่ 415/2564 ลงวันที่ 19 เมษายน 2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ขณะดํารงตําแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ถูกกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงนั้น
การกระทําของจําเลยเป็นการรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ จากการดําเนินการสอบสวนและนําสรุปความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ตามประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งในวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 โจทก์รับทราบคําสั่งให้ไปช่วยราชการและวันพฤหัสที่ 8 เมษายน 2564 โจทก์เดินทางไปช่วยราชการและรายงานตัวต่อประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 วันที่ 9 เป็นวันศุกร์ วันที่ 10 และ 11 เป็นวันเสาร์ และอาทิตย์วันที่ 12 ถึง 15 เมษายน 2564 เป็นวันหยุดราชการสงกรานต์ วันที่ 17 และ18 เมษายน 2564 เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ วันรุ่งขึ้น วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันเพิ่งเปิดทําการราชการหลังจากหยุดราชการมาหลายวัน
จําเลยประธานศาลฎีกากระทําการด้วยความเร่งรีบ เร่งด่วน ซึ่งสํานักงานศาลยุติธรรมโดยจําเลยประธานศาลฎีกา มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่โจทก์ดังกล่าวทําให้เป็นที่น่าสงสัย เพราะมีเหตุผลใดต้องเร่งรีบเร่งด่วนเช่นนั้นทั้งที่จําเลยรู้ทราบดีว่า การดําเนินการสอบสวน และสรุปความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นโดยโจทก์ผู้ถูกร้องเรียนกล่าวหายังไม่ได้ชี้แจงและนําพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์
การกระทําของจําเลย โดยนําสรุปความเห็นจากการดําเนินการสอบสวนและมีความเห็นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดําเนินการสอบสวนที่กําหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งโจทก์ก็มีหนังสือด่วนที่สุดขอความเป็นธรรมต่อจําเลยและคณะกรรมการสอบ สวนข้อเท็จจริง ในวันที่ 5 เมษายน 2564 ปรากฏตามสําเนาหนังสือขอความเป็นธรรมจํานวน 4 ฉบับ
โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมและบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีกรณีไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงในการพิจารณาคดีของ ผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นสรุปเสนอความเห็นแล้วสํานักงานศาลยุติธรรม
โดยจําเลยประธานศาลฎีกามีคําสั่งให้โจทก์ไปช่วยทํางานชั่วคราวใน ตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ตามคําสั่งสํานักงานศาลยุติธรรมที่ 371/2564 และมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ตามคําสั่งสํานักงานศาลยุติธรรมที่415/2564
พฤติการณ์การกระทําของจําเลยเป็นการใช้อํานาจโดยไม่ชอบตามบท บัญญัติของกฎหมาย มีเจตนากระทําการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91
คดีนี้เป็นคดีที่คนระดับ “อธิบดีศาลฯ” ฟ้อง “ประธานศาลฎีกา” จึงน่าสนใจว่าผลของคดีจะลงเอยอย่างไร...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,685 หน้า 10 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน 2564