วันนี้ (11มิ.ย.64).นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์เดินทางไปที่สำนักงานกรุงเทพฯ 87/2ซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ออลซีซั่นเพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวที่อ้างว่าเกี่ยวกับผู้พิพากษาอาวุโส 3 ท่านในศาลยุติธรรม สร้างความเสื่อมเสียให้กับกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างมากซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อเดินทางไปถึงปรากฎว่าสำนักงานบริษัทโตโยต้าได้ย้ายออกไปแล้ว จึงได้ส่งหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับด่วนพิเศษจ่าหน้าที่อยู่เลขที่ 186/1 ม.1 ถ.ทางรถไฟเก่า ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง สมุทรปราการ 10130
ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี เป็นลูกค้าผู้ใช้เครื่องยนต์โตโยต้า และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง อาจเป็นการแอบอ้างหรือเป็นการดิสเครดิตศาลยุติธรรม จึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยได้รับผลกระทบไปทั่วโลก รู้สึกเสียใจที่ปรากฏเรื่องในทางลบเป็นอย่างยิ่งกับศาลยุติธรรม โดยมีมูลเหตุมาจากการเสียภาษีชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้าพริอุสของบริษัทโตโยต้า ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทยในอนาคต และมีผลกระทบต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นเพื่อให้ความจริงปรากฏ จึงขอให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยรายละเอียดในเรื่องที่ลูกค้าและประชาชนสงสัยในธรรมาภิบาลของบริษัทตามเรื่องที่ปรากฏโดยด่วนที่สุด จึงขอถามบริษัทโตโยต้าว่าได้มีการจ่ายเงินตามที่มีการกล่าวอ้างกันจริงหรือไม่ จ่ายให้ใคร? ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จะขอโทษต่อประชาชนคนไทยในเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ และบริษัทโตโยต้าได้รักษามาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมขั้นสูงสุดของบริษัท ด้วยวิธีการอย่างไร เมื่อใด จะเหมือนมาตรฐานจริยธรรมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่หรือไม่
กรณีนี้ปรากฏในเว็บไซต์ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลกรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้มีการสอบสวนภายในกรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย อาจกระทำละเมิดกฎหมาย FCPAโดยระบุข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ และเงินดังกล่าวถูกส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ในรูปคดีอันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ10,958,500,000 บาท