พรรคไทยสร้างไทยจัดเสวนา "ทางรอดร้านอาหาร ที่รัฐบาลต้องฟัง" มีผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เข้าร่วม อาทิ คุณรณกาจ ชินสำราญ ร้าน Maguro คุณเจตุบัญชา อำรุจิตชัย ธุรกิจลูกชิ้นจัง , คุณวิน สิงห์พัฒนากกุล จากร้าน Chocolate Ville คุณอานนท์ เลิศประภาการ จากร้าน Harry ! s Bistro by ครัวต้นไม้ และ คุณบุญย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ โดยมี คุณฐาปนีย์ เอียดศรีชัย ดำเนินรายการ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ ว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจของ “คนตัวเล็ก” ที่เป็น SMEs ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เคยสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึงกว่า 400,000 ล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องหลายล้านคน
วันนี้จากสถานการณ์การระบาดโควิด ถึง 3 รอบ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องประสบปัญหาวิกฤติ หลายร้านปิดตัวไปแล้ว ที่เหลือกำลังทยอยปิดตัว หากสถานการณ์การระบาดยังยืดเยื้อเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของผู้ประกอบการที่เลือดกำลังไหลออกจนจะหมดตัว ต้องห้ามเลือดและเติมเลือดให้เพิ่มอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ จะหมดลมไปก่อน ซึ่งจะมีผลกระทบถึงเกษตรกรผู้ส่งวัตถุดิบป้อนร้านอาหารเหล่านี้อีกมากมาย
คุณรณกาจ ชินสำราญ จากร้าน Maguro กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามรักษาธุรกิจและพนักงานอย่างเต็มที่มาตั้งแต่การระบาดรอบแรก แต่พอมาถึงรอบที่ 3 ทุนที่มีมาได้ใช้ไปหมดแล้ว กับการต่อสู้ในการระบาด 2 รอบแรก ร้านอาหารส่วนใหญ่แทบจะไม่เหลือ สายป่านแล้ว เพราะนโยบายที่รัฐประกาศมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือเรื่องวัคซีนก็ไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนที่ธุรกิจ SMEs เข้าไม่ถึงซึ่งรัฐบาลควรให้เงินชดเชยแบบให้เปล่าบางส่วน พักชำระหนี้และปล่อยกู้ให้ถึง SMEs จริงๆ เพราะขณะนี้การปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ไปไม่ถึงผู้ประกอบการ อยากให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารจะดีกว่า
คุณอานนท์ เลิศประภากร จากร้าน Harry ! s Bistro by ครัวต้นไม้ มองว่า รัฐควรจะมีทางออกมากกว่านี้ ที่ผ่านมาทางร้านไม่ได้ทิ้งใครเลย ดูแลพนักงานทุกคน เพราะการเอาคนออกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องประคับประคองกันไป ที่สำคัญรัฐไม่ได้คิดที่จะช่วยธุรกิจเลย ไม่เหมือนกับที่ประเทศอังกฤษ หรือประเทศอเมริกา ที่เขาให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ โดยเน้นในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินลงทุน และที่สำคัญรัฐควรจริงจังในการฉีดยาให้กับผู้ที่มีอาชีพบริการ อย่างที่ร้านเร่งพนักงานให้ฉีดวัคซีนให้ครบ แต่ ณ วันนี้รัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนในการฉีด
คุณเจตุบัญชา อำรุงจิตชัย ผู้ประกอบการ ธุรกิจแฟรนไชส์ ลูกชิ้น-จัง บอกว่า ธุรกิจลูกชิ้นที่ทำอยู่นั้นถือว่าเป็นกระเป๋าเงินที่สองของแม่ค้าหรือพ่อค้า ที่ร่วมเป็นแฟรนไชส์กว่า 600 ร้าน เมื่อทุกอย่างหยุดนิ่งไปเป็นปี ไม่มีการเดินทาง ไม่มีการซื้อขาย เป็นเหตุให้ทุกคนได้รับความยากลำบากไปหมด
การที่รัฐจะเปิดประเทศอีก 120 วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนแล้วหรือยัง เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่น ก็จะไม่มีการจับจ่ายเงินแน่นอน แต่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระทุกอย่าง "การเปิดร้านใหม่ ต้องมีการปรับปรุง เมื่อมีการปรับปรุงก็มีค่าใช้จ่าย ตรงนี้รัฐยังไม่มีมาตรการช่วยผู้ประกอบการเลย"
โดยเฉพาะประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจ SMEs โดยอ้างว่าผลประกอบการไม่ผ่าน เพราะแทนที่จะพิจารณาจากผลประกอบการในปี 63 ก่อนโควิด กลับใช้ผลประกอบการในปีปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครที่ไม่ขาดทุน ตราบใดที่รัฐบาลยังคุมการระบาดของโรคไม่ได้ จึงไม่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ทุกวันนี้เงินทุนแทบจะหมดกันทุกรายแล้ว จะอยู่รอดถึง 120 วันที่รัฐบาลจะเปิดประเทศกันได้หรือเปล่า
คุณวิน สิงห์พัฒนากกุล จากร้าน Chocolate Ville กล่าวว่า ขอบคุณที่มีการจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมาหารือ เสนอทางออกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง หรือ ศบค จะต้องมองผู้ประกอบการด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแหล่งเงินในการช่วยเหลือควรจะจริงจัง
"เพราะว่าถ้าดอกเบี้ยยังเดินอยู่อย่างนี้ผู้ประกอบการก็คงแย่แน่นอน และที่สำคัญแรงงานและผู้ประกอบการที่ส่งเงินให้ประกันสังคมไป เงินนั้นไปอยู่ไหน ทำไม ไม่ช่วยผู้ประกอบการ" จึงอยากให้มีการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างจริงจัง
สำหรับ คุณบุญย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ จาก BBQ Plaza กล่าวว่าเรื่อง วัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐควรจะสนับสนุนให้พนักงานของร้านอาหารได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้พนักงานส่วนใหญ่ถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนหากยังดำเนินการล่าช้าเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
ผลสรุปของการสัมมนา ผู้ประกอบการมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1.ขอให้พนักงานของร้านอาหาร ซึ่งต้องสัมผัสกับลูกค้ามากมาย ได้มีโอกาสฉีดวัคซีนได้ครบอย่างรวดเร็ว
2.ขอให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างแท้จริง โดยรัฐบาลควรจะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ
3.รัฐควรให้เงินทุนให้เปล่าสนับสนุนผู้ประกอบการให้กลับมาเปิดกิจการได้ โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือค่าจ้างพนักงานให้ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาธุรกิจและให้ลูกจ้างไม่ต้องตกงาน
4.ขอให้นำเงินประกันสังคมที่ทางนายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบ ออกมาช่วยลูกจ้างและนายจ้างในช่วงวิกฤติแบบนี้