ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา จำนวน 13 ฉบับ ที่เสนอโดย พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พรรคร่วมรัฐบาล และ พรรคร่วมฝ่ายค้าน
ญัตติที่เป็นปัญหาที่จะถูกต่อต้านอย่างหนักจาก สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นอกจากการแก้ไขเนื้อหาของบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ออกแล้ว
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ มาตรา 185 ซึ่งเกี่ยวกับการเปิดทางให้ “นักการเมือง” เข้าไปล้วงลูกเกี่ยวกับการ “จัดสรรงบประมาณ” ได้ โดยไม่มีความผิด ก็เป็นอีกประเด็นที่ “บรรดาส.ว.” หลายคนไม่เห็นด้วย
+ส.ว.ขวางแก้ ม.144, 185
คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดย นายสังศิต พิริยะสังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกมธ. ระบุว่า คณะกมธ.ฯ มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ มาตรา 185
เนื่องจากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าว ห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ การให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ
ทั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีการกำหนดบทบัญญัติไว้ และแม้ว่าการเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำลายหลักการ แต่มีการตัดทอนบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการประจำ รวมถึงตัดข้อห้าม ส.ส. และส.ว. เข้ามามีส่วนในการใช้จ่าย หรือ อนุมัติงบประมาณ และการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
เนื่องจากบทบัญญัติส่วนที่ถูกเสนอตัดออกไป 2 มาตรา ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้รับสมญานามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”
นอกจากนี้ บทบัญญัติในมาตรา 185 ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย
คณะกมธ.ฯ มองว่า ปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดของไทยมี 3 เรื่อง คือ การศึกษา ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ และ การทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้ หากปล่อยให้มีการโกงการทุจริตเกิดขึ้น
“การลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คณะกมธ.ฯ จะมีมาตรการแซงก์ชั่นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา อาจจะเป็นเรื่องของการงดออกเสียง การลงมติไม่เห็นด้วย หรือ การอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดปุ่มลงคะแนนใดๆ” นายสังศิต ระบุ
+สกัดส.ว.-ส.ว.ล้วงงบ
ในเรื่องดังกล่าว พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ก็ออกมาระบุว่า วุฒิสภาได้จัดเวทีเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ญัตติที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอให้รัฐสภาพิจารณา โดยมีส.ว.เข้าร่วมกว่า 100 คน
โดยการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 ว่าด้วยข้อห้าม ส.ส. ส.ว. แปรญัตติงบประมาณ ทั้งทางตรง หรือ ทางอ้อม และแทรกแซงข้าราชการ หากใครฝ่าฝืนให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ ขอให้แก้ไขโทษว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิด ทำให้มีส.ว.จะลงมติไม่เห็นชอบ แต่สุดท้ายแล้วน่าจะมีเสียงส.ว.สนับสนุนเพียงพอให้ผ่านไปได้ เพราญัตติของพรรคพลังประชารัฐ มีเพียงฉบับเดียว
“เสียง ส.ว. ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ผ่านไปก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้นการแปรญัตติ ให้สามารถควบคุม ส.ส.-ส.ว.ไม่ให้เข้าไปแทรกแซงการใช้งบประมาณได้” พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุ
+ค้าน“ถอดปลั๊กปราบโกง”
ก่อนหน้านี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. แสดงความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ โดยชี้ว่า เป็นการ “สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง ปิดสวิตซ์ส.ว.”
“สมนาคุณพรรคใหญ่” ประเด็น 1 ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง ประเด็น 2 “ปิดสวิตซ์ส.ว.” ประเด็น 3 เชื่อว่าเป้าหมายหวังผลเต็ม 100 คือ ประเด็น 1 และ ประเด็น 2
“นอกจากนี้ ผมยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 144 และ 185 ที่เป็นการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นประเด็นที่ถูกมัดรวมอยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ” นายคำนูณ ระบุ
+ ACT ต้านคดโกงงบ
ด้านความเคลื่อนไหวของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โดย นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการฯ ได้เปิดเผยว่า องค์กรได้สร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org หัวข้อ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ เชิญชวนให้คนร่วมลงชื่อ และจะเดินหน้ารณรงค์ทุกวิถีทางให้ประชาชนต่อต้านการกระทำของพรรคพลังประชารัฐ ในการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ที่ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศล้มเหลว และขอเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว.ทุกคนได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ให้ชัดเจน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังได้ออกแถลงการณ์กรณีพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอให้ตัดบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการจัดทำงบประมาณประจำปี ตามมาตรา 144 และ ตัดข้อห้ามมิให้ ส.ส. และ ส.ว. แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ตามมาตรา 185 ซึ่งจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศล้มเหลว และนอกจากจะเปิดทางให้เกิดการคดโกงแล้ว ยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่
การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันต้องชัดเจนทั้งหลักการและวิธีการ การมีมาตรการที่ครอบคลุม ปฏิบัติได้จริงจังจึงจะพิสูจน์ความเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” และวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ การลดทอนให้เหลือเพียงหลักการลอยๆ ไม่มีแนวปฏิบัติปราศจากบทลงโทษ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจเด็ดขาดในการปราบปรามคอร์รัปชัน ทำให้คนโกงย่ามใจ คนไทยทั้งชาติอยู่ในสภาวะของการ “ยอมกับการโกงของผู้มีอำนาจ” อีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสองประการดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :