"กนก"เผยผู้ป่วยโควิดระบาดหนักในกทม. มิ.ย.เดือนเดียวกระโดดจาก 5% เป็น 70 %

05 ก.ค. 2564 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 10:13 น.

"กนก" เผยสถิติผู้ป่วยโควิด-19 ระบาดหนักในกรุงเทพ มิ.ย.เดือนเดียวกระโดดจาก 5% เป็น 70 % ชี้เกิดจากผู้รับผิดชอบไม่รู้ข้อมูลจริง- บริหารสั่งการไม่ได้ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

วันที่ 5 ก.ค. 64 นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ตัวเลขจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปี 2564ที่ศบค.รายงานว่า เมื่อนำมาเรียงกันจะให้ความหมายสำคัญ ดังนี้ 

 

31 มกราคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ = 829 คน, 28 กุมภาพันธ์ = 70 คน, 31 มีนาคม = 42 คน, 30 เมษายน = 1,583 คน, 31 พฤษภาคม = 5,485 คน, และ 30 มิถุนายน = 4,786 คน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงมกราคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ = 829 คน จนถึง 31 มีนาคม คือ สถานการณ์สมุทรสงคราม ที่ทำให้ตัวเลขสูง 2. ช่วงเมษายน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ = 1,583 คน คือ ช่วงประชาชนกลับบ้านต่างจังหวัด ในเทศกาลสงกรานต์ และ 3.ช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ = 5,485/4,786 คนคือ ช่วงเกิดคลัสเตอร์เรือนจำ, ตลาดสด, ชุมชน, แคมป์คนงานก่อสร้าง และแหล่งชุมชนต่าง ๆ 

 

แสดงให้เห็นแบบแผนของปัญหาการแพร่ระบาด 2 รูปแบบ คือ แบบแผนที่ 1 เป็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในกลุ่มคน ที่อยู่ใกล้ชิดกันและไม่สามารถควบคุมได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงเป็นช่วง ๆ เป็นผลจากการระดมมาตรการแก้ไขที่ใส่ลงไปในพื้นที่แพร่ระบาดเป็นสำคัญ แบบแผนที่ 2 เป็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส จากการเคลื่อนที่ของคนติดเชื้อไวรัสและกระจายไปสู่บุคคลอื่น ๆ ในพื้นที่ที่เดินทางไป

 

จากตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 แบบแผนนี้ ชี้ถึงปัญหาการควบคุมการแพร่ กระจายของเชื้อไวรัสตามหลักทางระบาดวิทยา สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้น่าจะมีเหตุผลหลายประการประกอบกัน ประการแรก คือ ความไม่รู้ของผู้รับผิดชอบ รวมถึงการไม่รู้ข้อมูลจริงและการไม่มีความรู้ ประการที่สอง คือ การไม่สามารถบริหารสั่งการให้เกิดการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ในระดับปฏิบัติการ และประการที่สาม คือ การไม่เอาใจใส่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระดับปฏิบัติที่จะเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด

นายกนก กล่าวด้วยว่า ประเด็นปัญหาที่มีการส่งเสียงเตือนออกมาแล้ว คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่สามารถติดได้ง่าย กระจายตัวรวดเร็ว มีอาการรุนแรง และวัคซีนที่ฉีดคือ Sinovac มีความสามารถในการป้องกันสายพันธุ์

 

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่าในกรุงเทพมหานครช่วงต้นเดือนจนถึงปลายเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจาก 5% เป็น 70% ของผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งหมด แนวโน้มของจำนวนติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 6,087 คน (2 กรกฎาคม) และจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเป็น 61 ราย ตัวเลขจำนวนคนติดเชื้อไวรัสรายใหม่และจำนวนคนเสียชีวิตรายวันที่สูงขึ้น อย่างต่อเนื่องนี้ 

สถานการณ์ดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนให้เตรียมการ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1. การเตรียมจำนวนเครื่องช่วยหายใจ 2.การสำรองออกซิเจน 3.การเตรียมยา Favipiravia และ Tocilizumab สำหรับผู้ป่วยอาการหนักนอกเหนือจากเตียงและโรงพยาบาลสนามที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้แล้ว ถึงกระนั้นสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างรวดเร็วนี้ เตือนให้เราต้องคิดถึง 4.การวางระบบติดตามอาการของผู้ป่วย ที่ต้องอยู่ที่บ้านเพราะจำนวนเตียงในโรงพยาบาลทุกประเภทไม่เพียงพอ ระบบการติดตามอาการของผู้ป่วย ที่จำเป็น เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วด้วยตนเอง, การเตรียมอุปกรณ์และออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้าน จนถึงการรายงานข้อมูลอาการผู้ป่วยที่บ้านกับแพทย์ที่ศูนย์แพทย์ใกล้บ้านตลอด 24 ชั่วโมง
 

"ความพร้อม 4 เรื่องนี้มีเวลาเตรียมการประมาณ 1 เดือน เพราะคาดการณ์ว่าเดือนสิงหาคมสถานการณ์ การแพร่ระบาดและจำนวนผู้ป่วยจะถึงจุดสูงอย่างไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย ผมหวังว่าเสียงเตือนด้วยความห่วงใยนี้จะถึงผู้รับผิดชอบในกระทรวงสาธารณสุขและศบค.และนำไปสู่การเตรียมการล่วงหน้าเพื่อบริหารจัดการจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยพบมาก่อน ในอนาคตอันใกล้นี้"นายกนก กล่าว