ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ 4 มาตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ขัดรธน.

07 ก.ค. 2564 | 07:52 น.

ศาลรัฐธรรมนูฐ วินิจฉัย 4 มาตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ขัดรธน. ชี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลจะกระทำมิได้ และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น การเขียน รวมถึงการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สามารถกระทำได้

 วันที่ 7 ก.ค64 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ  2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “การชุมนมสาธารณะ” มาตรา 10  มาตรา 14 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26  มาตรา 34 และมาตรา 44 ที่กำหนดเกี่ยวกับการตรากฎหมายซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลจะกระทำมิได้ และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น การเขียน รวมถึงการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สามารถกระทำได้

 

ทั้งนี้การวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวมาจากการที่ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ศาลจังหวัดนครพนม ศาลแขวงเชียงราย ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งคำโต้แย้งของจำเลยรวม 4 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212ว่าบทบัญญัติมาตราเหล่านี้ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ2558 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  26 มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่

อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา 4 กำหนดนิยามคำว่า การชุมนุมสาธารณะ  หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด เรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นด้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

 

 มาตรา  10 กำหนดว่า ผู้ใด ประสงค์ จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

 

ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง
 

การแจ้งการชุมนุมสาธารณะต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องเป็นวิธีที่สะดวกแก้ผู้แจ้ง และต้องให้แจ้งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ด้วย

 

มาตรา 14 กำหนดว่า  การชุมนุมสาธารณะที่ไม่เป็นไปตามาตรา 6 หรือไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 หรือที่ผู้แจ้งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับแจ้งหรือที่ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา 11 หรือที่จัดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกำหนดเวลาตามมาตรา 12 ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

มาตรา 28 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 17 และมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท