นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.เห็นด้วยหากรัฐจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก
จากสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดวันนี้ (9 กรกฎาคม 2564) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกิน 9,000 รายเป็นครั้งแรก เกิดวิกฤตเตียงรุนแรงถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขที่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้น และปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อรอเตียงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก หลายรายเสียชีวิตระหว่างรอเตียง ต้องเร่งแก้ปัญหาก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลายสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากกว่านี้ จนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้หากมีการยกระดับความเข้มข้นในการควบคุมโรค ควรใช้บทเรียนจากการล็อคดาวน์ในปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม ทันเวลา และทันต่อสถานการณ์เพราะการแก้ปัญหาในคราวนี้มีเดิมพันสูงเพราะเป็นเดิมพันที่ต้องแลกด้วยชีวิตคน โดยมีข้อเสนอ 4 ด้านเศรษฐกิจและ 4 ด้านสาธารณสุขที่ต้องดำเนินไปอย่างควบคู่กัน เพื่อต่อลมหายใจให้คนทุกคน ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ
1. มีมาตรการเยียวยาทางการเงินอย่างทันท่วงที ที่เข้าถึงง่ายและสะดวกมากขึ้น สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่อยากให้มีภาพปรากฎที่แสดงให้เห็นว่ามีคนต่อคิวไปรอกดเงินที่ธนาคารกันอย่างแออัด เพราะอาจเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อ
2. ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากการตกงาน ไม่มีรายได้ รวมถึงผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับผลกระทบ มีข้อยกเว้นในการตัดไฟ ไม่ซ้ำเติมประชาชนให้เดือดร้อนยิ่งไปกว่าเดิม
3. การให้สินเชื่อ และการพักชำระหนี้อย่างจริงจัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจากับสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง
4. มีการเยียวยาที่โฟกัสให้ตรงจุดกับกลุ่มที่ให้ความร่วมมือปิดกิจการมานานแล้วอย่างทันท่วงทีและในจํานวนเงินที่เหมาะสม เช่นอาชีพอิสระ ธุรกิจกลางคืน/บันเทิง ฟิตเนส
ด้านสาธารณสุข
1. บริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเร่งฉีดเข็มแรก สำหรับผุ้ที่ยังตกหล่นให้ครอบคลุม และเร่งจัดการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดเข็มสามสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนตามลำดับ เพื่อรองรับเชื้อที่กำลังกลายพันธุ์และวัคซีนเดิมที่ใช้อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
2. ลดขั้นตอนในการทำงาน ปลดล็อคกฎหมาย และการทำงานรูปแบบรัฐข้าราชการที่ไม่สอดคล้องกับการบริหารสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน ในการนำเข้าวัคซีนหรือยารักษาเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษามากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้เอกชนและภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยดำเนินการมากขึ้น
3. เร่งตรวจเชิงรุกสำหรับกลุ่มเสี่ยง เปลี่ยนกติกาการตรวจที่ไม่บังคับให้โรงพยาบาลที่เป็นผู้ตรวจต้องรับตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา เพื่อช่วยขยายการตรวจให้ครอบคลุมมากที่สุด ทำให้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่ใกล้ข้อเท็จจริง และนำมาประเมินสถานการณ์ในการรักษาได้อย่างถูกต้อง
4. เร่งแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตเตียงโดยเร็ว ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องบูรณาการกันทุกภาคส่วน มีการบริหารแบบรวมศูนย์ ที่ปัจจุบันมีการบริหารแยกกันไม่มีประสิทธิภาพจนเกิดการสูญเสียรายวัน