วันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 ในส่วนกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ของกองทัพเรือ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ที่ถูกกระแสสังคมและฝ่ายการเมืองโจมตีอย่างหนักถึงความไม่เหมาะสมในการจัดซื้อเรือดำน้ำในช่วงที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบซูม ให้หน่วยงานที่มาชี้แจงงบอยู่ที่สำนักงานของตัวเอง
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มประชุม กมธ. และถึงวาระการพิจารณางบของกองทัพเรือ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมทันทีว่า ขอถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม
จากนั้นที่ประชุม จึงพิจารณางบประมาณส่วนอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหมไปตามวาระปกติ
ทั้งนี้ เมื่อ วันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งให้ กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือยืดเวลาออกไปก่อน
โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กลาโหมได้เห็นถึงปัญหาภาระงบประมาณและความจำเป็นเร่งด่วนในการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติและประชาชนภาพรวมในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในปี 63 และ ปี 64 ที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ส่งคืนงบประมาณ จำนวน 3,375 ล้านบาท และ 3,425 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาล สามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ตามความจำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ การชะลอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ไปเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรกตัดงบฯตาม พ.ร.บ.โอนคืนงบฯเพื่อใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 วงเงินราว 4,130 ล้านบาท (เป็นงบฯเรือดำน้ำ 3,375 ล้านบาท) ครั้งที่ 2 ถูกตัดงบฯ ในขั้น กมธ.งบฯปี 64 วงเงิน 3,925 ล้านบาท และครั้งที่ 3 ไปเจรจาขอลดวงเงินงบฯซื้อลำที่ 2-3 จีนตกลงให้จ่ายเงินงวดแรก 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 จากที่ตกลงไว้เดิม จึงตั้งงบฯปี 65 ไว้ประมาณ 900 ล้านบาท แต่ที่สุดต้องถอนไป