ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ส.ค. 2564) ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย นำโดย นายโภคิน พลกุล ,นายวัฒนา เมืองสุข และ ผู้เสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 เข้าพบ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์นาย นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามผลการดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพรรค
ได้มีผลการประชุมมีข้อสรุป 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ประชาชนย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่อจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมและป้องกันโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และ 55 ตามลำดับ
2.สถานการณ์ของโควิด-19 ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมถึง 707,659 ราย เสียชีวิต 6,066 คน เป็นผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวจำนวน 213,444 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 78,733 คน ทำให้ผู้ป่วยล้นเกินจากระบบสาธารณสุขปกติถึง 134,671 คน ต้องรักษาตัวนอกระบบสาธารณสุขปกติ ได้แก่ รักษาตัวโรงพยาบาลสนาม 70,281 คน รักษาตัวด้วยการกักตัวในบ้านหรือในชุมชน (Home/Community Isolation) 55,177 คน รักษาตัวอยู่ในที่อื่นที่ไม่สามารถระบุได้อีก 9,213 คน
3.สาเหตุของความล้มเหลวของการบริหารสถานการณ์โควิด-19 เกิดจากความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการแพร่ระบาดถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงทำให้จํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขปกติไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจํานวนมากดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่สาธารณะหรือบ้านพักตนเอง
4.การที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และขยายเวลาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยรวมอำนาจรักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับไว้ที่ตนเองแต่เพียงผู้เดียว แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายดังกล่าวอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
5.พรรคไทยสร้างไทยได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่าสมควรฟ้องรัฐบาลในประเด็นนี้หรือไม่ ปรากฏว่ามีประชาชนเข้าชื่อเห็นด้วยให้ฟ้องรัฐบาลถึง 700,000 คน ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรฟ้องนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงผู้เดียว ส่วนผู้เสียหายหากมีเพิ่มเติมก็อาจจะเพิ่มด้วยการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง หรือโดยวิธีร้องสอดแล้วแต่กรณี
นายกสมาคมฯ แจ้งว่า ได้ร่างฟ้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และจะนำไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 10.30 น.