ดีอีเอสเตือนข่าวปลอม ม็อบ 10 ส.ค. ไม่มีเด็กอาชีวะถูกยิงเสียชีวิต

11 ส.ค. 2564 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 14:47 น.

ดีอีเอส เตือนข่าวปลอม ย้ำไม่มีเด็กอาชีวะถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุม 10 ส.ค. แจงผู้เสียชีวิตในภาพประสบอุบัติเหตุรถชน

วันที่ 11 ส.ค. 2564  นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารถึงประเด็นเรื่อง พบเด็กอาชีวะถูกยิงเสียชีวิต จากการร่วมชุมนุมม็อบ10 สิงหา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

  นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดีอีเอส

การเผยแพร่ข่าวสาร ระบุว่าเด็กอาชีวะช่างกลโดนยิงหัวเสียชีวิต หลังจากการเข้าร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งแท้จริงแล้วผู้เสียชีวิตในภาพประสบอุบัติเหตุรถชน ไม่ได้เป็นเหตุยิงกันเสียชีวิตแต่อย่างใด โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 21.00 น. สน.บุปผาราม ได้รับแจ้งว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่ถนนประชาธิปก มุ่งหน้าสี่แยกบ้านแขก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุ พบรถจักรยานยนต์ทะเบียน มฉก 479 กรุงเทพฯ มีนายสมยศ สอนเสาร์ อายุ 29 ปี (ทราบชื่อภายหลัง) ได้นอนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเนื่องมาจากขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถดูดฝุ่นกวาดขยะของ กทม. พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ที่ออกตรวจที่เกิดเหตุจึงถ่ายภาพที่เกิดเหตุ ทำแผนประกอบคดี แจ้งแพทย์ศิริราชร่วมชันสูตรศพ เบื้องต้นส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลศิริราช ตามใบรายงานชันสูตรศพระบุว่าศีรษะได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร

ดีอีเอสเตือนข่าวปลอม  ม็อบ 10 ส.ค. ไม่มีเด็กอาชีวะถูกยิงเสียชีวิต

  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม   โดยประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.royalthaipolice.go.th หรือโทร 1599

 

การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2), (5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจัง

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง