วันที่ 12 ส.ค. 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลากยาว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ว่า ไม่เพียงทำให้ระบบสาธารณสุขประเทศวิกฤตเท่านั้น แต่ทำให้ระบบการศึกษาวิกฤตด้วย ดังที่เห็นจากการนำเสนอของนักวิชาการทางการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองที่เสนอให้ประกาศปิดเรียนไปเลย 1 ปี จนถึงเสนอให้เปิดหรือปิดเรียนได้ตามสภาพและเงื่อนไข ของแต่ละโรงเรียนและชุมชนที่ตั้ง ในขณะที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตอบชัดเจนว่าจะทำอย่างไร การระบาดที่รวดเร็วและการติดเชื้อไวรัสโควิคที่รวดเร็วส่งผลให้นักเรียนจำนวนไม่น้อย ติดเชื้อไวรัสแล้ว สร้างความตื่นตระหนกให้กับครูและผู้ปกครองอย่างมากว่าจะทำอย่างไร จึงเกิดปฏิกิริยาแสดงออกผ่านสื่อในขณะนี้ เราควรตั้งสติแล้วกลับไปทบทวนว่าอะไรเกิดขึ้นกับมาตรการแก้ปัญหา การเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กระทรวงประกาศเลื่อนเปิดเทอมจากวันที่ 1 มิถุนายน เป็น
วันที่ 14 มิถุนายน และในวันที่ 9 มิถุนายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการสพฐ.ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมของกระทรวงเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ คือ 1) การเรียนผ่านระบบโทรทัศน์ (On-Air) 2) การเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On-Demand) 3) การเรียนแบบถ่ายทอดสด (Online) 4) การเรียนด้วยการนำส่งเอกสารที่บ้าน (On-Hand) และ 5) การเรียนการสอนแบบปกติที่โรงเรียน (On-Site)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวถ้าประสบความสำเร็จ ทำได้จริง คงไม่มีข้อเสนอให้ประกาศปิดเรียนเป็นเวลา 1 ปี คำถามคืออะไรเกิดขึ้นกับการปฏิบัตินโยบาย 5 รูปแบบในเวลาประมาณ 2 เดือนหลังเปิดเรียน คำตอบที่ชัดเจนคือรูปแบบการเรียนการสอนทั้ง 5 ใช้ไม่ได้ผลเพราะถ้าใช้ได้ผลดี คงไม่มีนักวิชาการและพ่อแม่ผู้ปกครองออกมาเสนอข้อเรียกร้องมากมายเช่นนี้ ข้อสังเกตที่เห็นคือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมีความสามารถในการให้นโยบายที่ดูดี มีหลักการ แต่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จและเกิดประโยชน์กับนักเรียนได้ ฟัง 5 รูปแบบการเรียน การสอนแล้วเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ แต่เมื่อถึงการปฏิบัติแล้วเหมือนตกนรก (On-Hell)
ประการที่สอง คือ กระทรวงศึกษาธิการถูกครอบด้วยความคิดว่านโยบายที่ให้ไปสามารถใช้ได้ ทั้งประเทศ และเป็นหน้าที่ของโรงเรียนและผู้บริหารจะต้องไปปรับให้เข้ากับสภาพเงื่อนไขของแต่ละโรงเรียนความคิดเช่นนี้สะท้อนว่าผู้บริหารระดับนโยบายของกระทรวงไม่เข้าใจบริบทจริงของโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ถ้ากระทรวงเข้าใจสภาพความเป็นจริงของโรงเรียน จะไม่กำหนดนโยบาย 5 รูปแบบ (5 On) เช่นนี้
ประการที่สาม คือ กระทรวงไม่ได้กระจายอำนาจจริงให้กับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน มอบนโยบายให้โรงเรียนทำแต่อำนาจการตัดสินใจ งบประมาณ จนถึงเครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร้อมและไม่พอ จึงทำให้มีเพียงโรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้นที่พอจะปฏิบัตินโยบายของกระทรวงได้ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กปฏิบัติไม่ได้และกลายเป็นภาระของกระทรวงในสายตาผู้บริหารกระทรวง กรณีการจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์โควิด 19 ตามนโยบาย 5 On ของสพฐ. โรงเรียนขนาดเล็กคือกลุ่มโรงเรียนที่ต้องเผชิญ กับปัญหามากที่สุด
“ผมต้องชี้ให้ชัดเจนว่าถ้าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการไม่เข้าใจปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั่วประเทศ และไม่เคยสัมผัสกับครู พ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย 5 On ในวิกฤตโควิดเช่นนี้ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงไม่มีวันจะเข้าใจและรู้สึกร้อนหนาวไปพร้อมกับนักเรียน ครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าใจและจิตสำนึกของผู้บริหารไม่ยืนอยู่ข้างนักเรียน ครู และโรงเรียนแล้ว การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและสำเร็จไม่มีวันจะเกิดขึ้น
มีข้อเสนอเร่งด่วน 2 ประการ คือ 1 เร่งจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 20,000 แห่ง โรงเรียนละ 200,000 บาทต่อภาคการศึกษา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ โควิด 2 เร่งพัฒนาระบบการเรียนรู้ทางออนไลน์และการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On Demand) ทันที เมื่อใจและจิตสำนึกของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเปิดแล้ว เราจึงค่อยมาปรึกษาหารือกันว่าข้อเสนอ 2 ประการนี้ทำอย่างไร พูดไปกับคนปิดใจและจิตสำนึกต่ำไม่เกิดประโยชน์ครับ” ศ.ดร.กนก กล่าว