‘บิ๊กตู่’อ่วม พิษบริหารโควิด เจอฟ้อง 6 คดี 3 ศาล-ป.ป.ช.

14 ส.ค. 2564 | 00:09 น.

‘บิ๊กตู่’อ่วม พิษบริหารโควิด เจอฟ้อง 6 คดี 3 ศาล-ป.ป.ช. : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,705 หน้า 12 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2564

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สำหรับประเทศไทยจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ในระดับ2 หมื่นคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็ยังไม่ตํ่ากว่า 100 คน

 

สถานการณ์ที่เป็นอยู่แบบนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริหารผิดพลาด ล้มเหลว และกำลังจะนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่ง ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ 19 ก.ย.นี้ 

 

โดยตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อปี 2563 เรื่อยมาจนถึงการระบาดระลอก 3 ในขณะนี้ ปี 2564 ก็มีคดีที่นำไปสู่การฟ้องร้อง “นายกรัฐมนตรี” แล้ว ร่วม 6 คดี อยู่ใน 3 ศาล และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

“ผู้เสียหายโควิด” ฟ้องบิ๊กตู่

 

ไปเริ่มกันที่คดีล่าสุดก่อน วันที่ 13 ส.ค. 64 พรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยผู้เสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล นายนรินท์พงศ์จินาภักดิ์นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 

 

หลังพรรคไทยสร้างไทยได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่า สมควรฟ้องรัฐบาลในประเด็นบริหาโควิดหรือไม่ ปรากฏว่ามี ประชาชนเข้าชื่อเห็นด้วยให้ฟ้อง รัฐบาลถึง 700,000 คน ที่ประชุมจึงเห็นควรฟ้องนายกฯ ในฐานะ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงผู้เดียว 

 

ความผิดตามรัฐธรรมนูญ ม. 47 และ 55 และประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 

 

“ปิดปากสื่อ” คดีถึง ป.ป.ช.

 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ขอให้ดำเนินการไต่สวน และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญกรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ควบ คุมสิทธิเสรีภาพสื่อ และศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครอง

 

โดยฝ่ายค้านมองว่า การ กระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และเข้าข่ายกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมาย อาญาม.157 และ 172 ฐานละเว้นปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติโดยทุจริต รวมถึงผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง 

 

หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็จะต้องส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง และศาลอาจสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

 

‘บิ๊กตู่’อ่วม พิษบริหารโควิด เจอฟ้อง 6 คดี 3 ศาล-ป.ป.ช.

 

 

ฟ้องเปิดทาง“วัคซีนเสรี”

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศและสมาชิกกลุ่มไทยไม่ทน นำโดย พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนฯ ได้ยื่นฟ้องนายกฯ , นายอนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และคณะ ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ไต่สวน​ตรวจสอบการออกคำสั่งประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีน ลงวันที่ 8 มิถุนายนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งทั้งหมด

 

และให้ผู้ถูกฟ้องเปิดโอกาสให้เอกชนหน่วยงานต่างๆ นำเข้าวัคซีนเองได้โดยเสรี โดยยกเลิก เงื่อนไข ขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งบริษัทเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้บุคลากรของตัวเองได้

 

ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4.5 ล.

 

ย้อนไปอีก เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 นายกุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของ นายกุลทรัพย์ วัฒนพล หรือ “อัพ VGB” อดีตผู้บุกเบิกวงการอี-สปอร์ตของไทย ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะประสานหาที่ตรวจไม่ได้ และได้รับการรักษาช้า ได้เข้ายื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง

 

ทั้งนี้เพื่อขอให้พิจารณาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ร่วมกันชดใช้ค่า เสียหายจำนวน 4,530,000 บาท จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้ นาย กุลทรัพย์ ต้องเสียชีวิต

 

เอาผิดบริหารโควิดพลาด

 

ขณะที่ก่อนหน้านั้น วันที่ 13 พ.ค. 64 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมยื่นหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกฎหมายหลายฉบับและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อไปในทางทุจริตและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 และบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่ท่วงทันต่อสถานการณ์ และปมคลัสเตอร์โควิด-19 ที่มีปัญหามาจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสนามมวยลุมพินี ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และสถานบันเทิงย่านทองหล่อ 

 

ทั้งนี้ กฎหมายที่ฝ่ายค้านอ้างให้ป.ป.ช.สอบอ้างเอาผิดนายกฯ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 47, 53, 55, 62, 164, 234 และในมาตรา 235 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558, พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542, พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 2520, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 ม.28 (1), (2) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

7 นศ.ฟ้องเรียก 3.5 ล้าน

 

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายปีก่อน วันที่ 27 พ.ย. 63 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักศึกษา นำโดย นางสาวสุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตจุฬาฯ ได้ไปที่ศาลแพ่งรัชดา พร้อมกับพวกรวม 7 คน ยื่นฟ้องนายกฯ  กับพวกรวม 6 คน ฐานละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยเรียกค่าเสียหายคน ละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 3.5 ล้านบาท

 

นางสาวสุกรียา ระบุว่า มีนักศึกษาหลายคนได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวของนายกฯ และคณะ ทำให้ถูกออกหมายเรียกและถูกดำเนินคดีหลายราย เช่น นางสาวภัสราวลี หรือ มาย ธนกิจวิบูลย์ผล ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอีกหลายข้อหา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ทั้งการฉีดนํ้าแรงดันสูง และการใช้แก๊สนํ้าตาจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงได้รับผลกระทบ จากการปิดการจราจร ปิดการเดินรถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส เอ็มอาร์ที

 

นายสุรชัย โตงาม ทนายความ ระบุว่า แม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรงไปแล้ว ผู้เสียหายยังมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เนื่องจากประกาศของรัฐบาลทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

6 คดี 3 ศาล และ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ “บิ๊กตู่” ถูกฟ้องให้ไต่สวนเอาผิด มีทั้งความผิดอาญา ชดใช้ค่าเสียหาย แต่จะมีคดีใด “เอาผิด” ได้บ้างหรือไม่ ต้องรอดูการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมต่อไป...