ภายหลัง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด(อสส.) ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวถึงกรณีองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ 13 องค์กร เรียกร้องให้ชี้แจงเหตุผลการสั่งไม่ฟ้อง นางนิภา และ นายธนพล วิระเทพสุภรณ์ ภรรยา และ ลูกชาย นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ ทั้ง 3 เกี่ยวข้องและเป็นเจ้าของสถานบริการอาบอบนวด "วิคตอเรียซีเครท" ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ภายในสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียฯ มีการค้ามนุษย์ และ เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
นายวงศ์สกุล ตอบคำถามเพียงสั้น ๆ ว่า "ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ระยะเวลา 2 ปี ไม่มีการพิจารณาสั่งคดีนี้ น่าจะเป็นอัยการสูงสุด ท่านอื่น"
อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ยืนยันว่า คดีวิคตอเรียซีเครท มี 2 คดี หลัก คือ 1.คดีความผิดในราชอาณาจักร คม.24/2561 ซึ่งนายกำพล นางนิภา และ นายธนพล ตกเป็นผู้ต้องหา และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ ต่อมาแยกเป็นคดีที่ คม.26/2561 เนื่องจากจับกุมตัวผู้ต้องหาเพิ่มเติม จึงแยกสำนวนฟ้อง
ส่วนคดีหลักที่ 2 คม25/2561 คดีความผิดนอกราชอาณาจักร มีการจัดส่งเด็กสาวจากวิคตอเรียฯ ไปขายบริการที่ประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านข้ามแดน อ.สะเดา จ.สงขลา คดีนี้ นายกำพล เป็นผู้ต้องหา แต่ไม่มี นางนิภา และ นายธนพล ร่วมด้วย
สำหรับ คดีคม.25/2561 มีการสั่งคดีในยุค อัยการสูงสุด นายเข็มชัย ชุติวงศ์ และมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกคน
ส่วนคดี คม.24/2561 พบว่า ผู้ต้องหา 3 คนที่หลบหนี คือ นายกำพล นางนิภา และ นายธนพล ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาตอนนั้น อัยการสูงสุดเปลี่ยนมาเป็น นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ แล้ว
กระบวนการสั่งคดี หลังทั้ง 3 พ่อ แม่ ลูก ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ เป็นผู้พิจารณาและมีความสั่งไม่ฟ้อง เฉพาะนายธนพล ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ ที่จะสั่งไม่ฟ้อง อยู่ในช่วงที่ นายวงศ์สกุล เป็นอัยการสูงสุด แต่เมื่ออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สั่งไม่ฟ้องแล้ว ไม่ต้องเสนออัยการสูงสุด
ต่อมา นายกำพล นางนิภา ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาใหม่ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ ไม่ได้สั่งด้วยตัวเอง แต่เสนอขึ้นไปที่รองอัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุด ในยุค นายวงศ์สกุล เป็นอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นไม่ฟ้อง นางนิภา เพียงคนเดียว โดยการสั่งคดียุติที่รองอัยการสูงสุด ไม่ต้องเสนออัยการสูงสุด เช่นกัน
ดังนั้น การสั่งคดีไม่ฟ้อง ทั้ง นายธนพล และ นางนิภา ทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้นในช่วงที่อัยการสูงสุด ชื่อ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ เพียงแต่กฎหมายให้อำนาจอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ และรองอัยการสูงสุด สั่ง "ไม่ฟ้อง" ได้ โดยไม่ต้องเสนอมาที่อัยการสูงสุด
การกลับคำสั่ง "ไม่ฟ้อง" ผู้ต้องหาคดีสำคัญในยุคที่ นายวงศ์สกุล เป็นอัยการสูงสุด นี้เอง นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ เด็กและสตรี จึงยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ถึง 2 ครั้ง คือวันที่ 19 ก.ค.64 และ 11 ส.ค.64 ขอให้ตรวจสอบอัยการสูงสุด นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ว่า ในฐานะอัยการสูงสุด ได้มีการปล่อยปละละเลย หรือ มีส่วนร่วมในการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ ทั้ง นางนิภา และ นายธนพล ทั้งที่ 2 คนอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีด้วยหรือไม่
มีการกระทำความผิดหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือ มีการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่ ขอให้กรรมการป.ป.ช.ตรวจสอบและเอาผิดกับบุคคลทุกระดับชั้น ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้อง หรือ มีการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด
ด้าน นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนเครือข่ายองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ 13 องค์กร มีหนังสือสอบถามมายังประธานก.อ. ส่งมายังสำนักงานอัยการสูงสุด และยื่นไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการขอทราบเหตุผลที่อัยการ จากเดิม มีความเห็น "สั่งฟ้อง" แล้วมากลับความเป็นเป็น "สั่งไม่ฟ้อง" นางนิภา และ นายธนพล ภรรยา และลูกชายนายกำพล ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ในสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท ว่า ทราบจากสำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่
"ส่วนตัวก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานความจริง แต่ก็อยากให้สำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาชี้แจง เกี่ยวกับการสั่งคดีวิคตอเรียซีเครท เพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชน" ประธาน ก.อ.ระบุ