ม.เกษตร สกลนคร พัฒนา"ฟ้าทะลายโจร" สร้างรายได้ให้เกษตกร

17 ส.ค. 2564 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2564 | 14:46 น.

นักวิจัย ม.เกษตร สกลนคร ร่วมกับ 6 ภาคีเครือข่าย ใช้นวัตกรรมพัฒนาฟ้าทะลายโจรตามมาตรฐาน GAP จนได้สารแอนโดรกราโฟไลด์เพิ่มขึ้น 4-6% พร้อมปั้นแบรนด์ “ภูพานไพล”สร้างรายได้ 20,000 บาทต่อครัวเรือน

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามถึงสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น มีมาตรฐานมากน้อยเพียงใด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือได้หรือไม่  


 
ผศ.ดร.ศรีบุษย์ ศรีไชยจรูญพง หัวหน้าทีมวิจัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉพาะเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร และคณะจึงได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ “การสร้างนวัตกรรมชุมชน เพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มสมุนไพร” ภายใต้โครงการวิจัย “การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดสกลนคร” ระหว่างเดือน ธันวาคม 2563 – มิถุนายน 2564 โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร

ม.เกษตร สกลนคร พัฒนา\"ฟ้าทะลายโจร\" สร้างรายได้ให้เกษตกร

ผศ.ดร.ศรีบุษย์ และคณะได้ทำการศึกษาบริบทพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด ด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตในท้องถิ่น รวมถึงสาเหตุ ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องทั้งเอื้อและไม่เอื้อกับการสร้างมาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อสร้างกลุ่มเกษตรกรเปราะบางพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และเพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพรสู่การเป็นสินค้า OTOP รวมทั้งจัดการห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าผลผลิตสมุนไพรของเกษตรกร มีช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ของชุมชน รายได้ของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และเพื่อให้เกิดเครือข่าย กลไกขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรเปราะบางพืชสมุนไพรระดับจังหวัด


 
 ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกฟ้าทะลายโจรกันอยู่แล้ว แต่ใช้รูปแบบการปลูกแบบเน้นการเจริญเติบโตของต้น ไม่มุ่งเน้นค่าสารสำคัญ Andrographolide เนื่องจากขาดความรู้และเทคนิคเฉพาะด้านเพื่อให้ได้ค่าสาระสำคัญสูง จึงทำให้ห่วงโซ่การผลิตฟ้าทะลายโจรจึงยังไม่ครบวงจร ตลอดจนความรู้วิชาการในวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การตลาดยังมีน้อย เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการของตลาดสูงขึ้น ราคาตลาดฟ้าทะลายโจรต้นแห้ง ราคาสูงจากเดิม 10 เท่า คือจากราคา 50 เป็น 500 บาท/กิโลกรัม ทางทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เข้าไปสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มสมุนไพรห่วงโซ่คุณค่าฟ้าทะลายโจร จากเดิมที่ใช้เมล็ดพันธุ์จากชุมชน ปลูกเองขายเองให้ตลาดกลางชุมชน นำมาปรับเป็นห่วงโซ่คุณค่าใหม่

โดยมีการคัดเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรจากแปลงของจังหวัดปราจีนบุรี พัฒนากระบวนการปลูกแบบแปลงมาตรฐาน ปรับปรุงดินและปรับปรุงระบบน้ำ การดูแลและเก็บเกี่ยว ให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์แปลงมาตรฐาน (PGS, GAP) อบรมการเก็บเกี่ยวลดต้นทุนการกำจัดวัชพืช จนถึงการตากแห้ง เพื่อให้ได้ค่าสารสำคัญสูง Andrographolide  ซึ่งพบว่า จากเดิมที่เคยได้ 1% เพิ่มเป็น 4-6% สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มฟ้าทะลายโจร       1 กิโลกรัมตากแห้งเป็นแคปซูล จากกิโลกรัมละ 150 บาท เพิ่มเป็น 2,000 บาท มีการสร้างตราสินค้า “ภูพานไพล” เป็นตราสินค้าหลักของกลุ่ม และสร้างการรับรู้ผ่านตลาดออไลน์ ผ่านเพจ ภูพานไพล ฟ้าทะลายโจรแห้ง ต้นกล้าฟ้าทะลายโจร มีการทำ MOU และ Contact Farming กับบริษัทโรงงานผลิตยาแคปซูล แปรรูปแคปซูลยา  2 บริษัท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจาก 10,000 ต่อครัวเรือนต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ส่งผลให้มีเกษตรกรนอกพื้นที่สนใจโมเดลเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่มวิสาหกิจ
 

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้นำชุดความรู้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรนำไปขยายผลในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ  U2T (University to Tambon)  พื้นที่  อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร