วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ รุ่นที่ 3 ( 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนเทศบาล ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลจาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธีเปิดโครงการฯ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างมาก ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนประเทศไทย ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ระหว่างเดือนมกราคม - ปัจจุบัน 2564 มีผู้เสียชีวิตสะสม 8,862 ราย และบาดเจ็บสะสม 575,382 คน
รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮล์ม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570 ซึ่งหากบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวนผู้เสียชีวิตจะเหลืออยู่ประมาณ 7,940 คน และในปี 2565 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในอีก 6 ปีข้างหน้า
โดยให้ความสำคัญกับกลไกในการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ทุกระดับ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น โดยเพาะอย่างยิ่ง ให้นายอำเภอเร่งจัดตั้ง ศปถ.ท้องถิ่นให้ครบทุกตำบล เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับ อปท.และประชาชนในพื้นที่ และบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระการประชุมประจำเดือน
และให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ให้ทุกจังหวัดจัดการประชุมเพื่อได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยให้บูรณาการร่วมกับ อปท. และประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” และใช้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน 3 ด่าน คือ ด่านครอบครัว ด่านชุมชน ด้านโรงงาน เพื่อให้สามารถลดความสูญเสีย และผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง
พร้อมกันนี้ขอให้ความสำคัญในการใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ถือเป็นภารกิจหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และขับเคลื่อนมาตรการและแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้เน้นการลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก คน ถนน และยานพาหนะในประเด็น ความเร็ว ดื่มแล้วขับ จุดเสี่ยง และรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ให้ถอดบทเรียนจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนำมาปรับใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านโดยใช้กลไกการเฝ้าระวังป้องกันในระดับพื้นที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครต่าง ๆ ในการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ คาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการช่วงสุดท้ายของไตรมาสปีนี้ ตัวเลขการสูญเสียชีวิตอาจกลับมาสูงขึ้นอีก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น โดยให้บูรณาการร่วมกับ อปท. และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถลดความสูญเสีย และผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง