“หมอต้น -นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คนใหม่ ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เสนอเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา
เป็นการขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ แทน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 นี้
ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “อธิบดีดีเอสไอ” เป็นคนที่ไม่ใช่มาจาก “นายตำรวจ” แต่ครั้งนี้เป็น “หมอผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์”
ที่ผ่านมานับแต่มี “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เกิดขึ้นมาในปี 2545 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน อธิบดีดีเอสไอ 10 คนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากตำรวจ
1. พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ 21 ต.ค. 2545- 23 ก.ย. 2546
2. พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ 7 ก.พ. 2547-9 ม.ค. 2550
3. นายสุนัย มโนมัยอุดม 16 ม.ค. 2550 - 25 ก.พ. 2551
4. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง 11 เม.ย. 2551 - 29 ก.ย. 2552
5. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ 29 ก.ย. 2552 - 19 ต.ค. 2552 (รักษาการ), เป็นอธิบดี 19 ต.ค. 2552 - 24 พ.ค.2557
6. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ 24 พ.ค. - 27 มิ.ย. 2557 (รักษาการ) เป็นอธิบดี 27 มิ.ย. - 30 ก.ย. 2557
7. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ 15 ต.ค. - 17 พ.ย. 2557 (รักษาการ) เป็นอธิบดี 17 พ.ย. 2557 - 27 ต.ค. 2558
8. นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ 1 ต.ค. - 19 ต.ค. 2558 (รักษาการ)
9. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง 20 ต.ค. - 4 พ.ย. 2558 (รักษาการ) เป็นอธิบดี 5 พ.ย. 2558 - 2 เม.ย. 2563
10. พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร 15 มิ.ย. 2563 - ปัจจุบัน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ นับแต่พรรคพลังประชารัฐ เข้ามาเป็นรัฐบาล และส่ง สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้ามาเป็น รมว.ยุติธรรมมีความพยายามปรับวิธีการ ทำงานของดีเอสไอ ให้หลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง
แรกๆ จะเห็นว่า มีการให้ “รองอธิบดีเอสไอ” สลับกันขึ้นมา “รักษาการ” ใช้เวลาไม่นานนัก เพื่อดำเนินการนโยบายบางอย่าง บางคนเป็นได้อยู่ 2-3 เดือน ก็ถูกย้ายออก
ดังเช่น เมื่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง เป็นอธิบดี ลาออกวันที่ 2 เม.ย. 63 ก็มีการแต่งตั้งพ.ต.อ.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการฯ ขึ้นอดีตเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ให้มารักษาราชการแทนในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 63
ต่อมา ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ มีผลวันที่ 30 มี.ค. 63 และมีคำสั่งให้รองอธิบดีดีเอสไอ 4 คน สลับกันปฏิบัติหน้าที่แทน ประกอบด้วยนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์, พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล, พ.ต.ท. สุภัทร์ ธรรมธนารักษ์ และ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฏัมภ์
มาถึงปัจจุบัน เมื่อสถาน การณ์ตอนนี้ต้องมีคนที่เข้มแข็งเพื่อมาปรับโฉม “ดีเอสไอ” ให้ทำงานตามหลักคดีพิเศษ นำหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการทำคดี ทำให้ “หมอต้น-นพ.ไตรยฤทธิ์” ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นมา “รับไม้ต่อ” จากคนที่กำลังจะเกษียณ
สำหรับ “หมอต้น-นพ.ไตรยฤทธิ์” อายุ 55 ปี เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามคุณพ่อรับราชการเป็นนายแพทย์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลาปัตตานี นราธิวาส เรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หลังจากนั้นเรียนต่อจนจบเป็นผู้เชี่ยวชาญวุฒิบัตรด้านนิติเวชศาสตร์จาก รพ. จุฬาลงกรณ์ และรับราชการเป็นหัวหน้าห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช (แพทย์นิติเวชคนแรกของกระทรวงสาธารณสุข) รพ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นเป็นแพทย์ประจำรพ.มะเร็งสุราษฎร์ธานี จนได้รักษาการผอ.รพ.
กระทั่งปี 2547 ย้ายมารับราชการที่สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ และเติบโตตามลำดับชั้น อาทิตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช (นายแพทย์ 9 วช.) สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ, ผอ.สำนักมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์, รองผอ.
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก่อนจะที่มีคำสั่งย้ายมารับราชการตำแหน่ง “รองอธิบดีดีเอสไอ” และได้ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยนายสมศักดิ์ เป็นรมว.ยุติธรรม
ช่วงหนึ่ง นพ.ไตรยฤทธิ์ ได้รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ มีผลงานโดดเด่นด้านการสืบสวนสอบสวน อาทิ สามารถยึดอายัดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติดได้แล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ระหว่างเป็นรองอธิบดี ได้นำระบบการสืบสวนสอบสวนออนไลน์มาใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ
เช่น กรณีหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) ซึ่งในคดีนี้ เบื้องต้นมีผู้เสียหายลงทะเบียนไว้กว่า 14,000 คน แต่มาให้ปากคำการสอบสวน 8,436 คน พบมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,908 ล้านบาท ปัจจุบันคดีได้ส่งไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษแล้ว
รอดูกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุค “หมอต้น” ว่าจะนำ“หลักนิติวิทยาศาสตร์” มาคลี่คลายคดีพิเศษได้มากน้อยแค่ไหน