สภาฯ รับหลักการวาระ 1 ร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

16 ก.ย. 2564 | 07:23 น.

สภาฯ มีมติรับหลักการวาระ 1 ร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย เจ้าหน้าที่ทำผิดเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย ต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 -30 ปี

วันที่ 16 ก.ย.2564 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาวาระรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังจากเมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นจากส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยในวันนี้ (16 ก.ย.) ได้มีการประชุมเพื่อให้โหวตลงมติในวาระรับหลักการหรือวาระที่ 1 โดยผลการลงมติที่ประชุม คือ เห็นชอบ 363 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และจะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป

 

“ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”  ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564  และถูกพลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภา  เป็นวาระเร่งด่วน หลังเกิดกรณี  “ผู้กำกับโจ้ ” ทำการทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 

สภาฯ รับหลักการวาระ 1  ร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

 

สำหรับเนื้อหาสำคัญ คือ  มุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ  ที่กระทำความผิดฐานทรมาน ในฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดไว้ ว่า  เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ  เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือ คำรับสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมาน  และมีการกำหนดอัตราโทษ 
 

สำหรับความผิดฐานกระทำการทรมานและฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไว้เท่ากัน  คือ ผู้ทำผิดฐานกระทำการทรมาน หรือ ความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท  หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 -30 ปีหรือ จำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 3  แสนบาท-1ล้านบาท และหากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โทษก็จะหนักขึ้น