เปิด "ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง" ล่าสุด ชอบตรงไหนให้เอาปากกามาวง

21 ก.ย. 2564 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 23:42 น.

เช็คมติคณะรัฐมนตรี ล่าสุด มีมติเห็นชอบร่างประมวลจริยธรมของข้าราชการการเมือง 9 ข้อ บังคับใช้กับข้าราชการการเมืองตำแหน่งไหนบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ "ร่างประมวลจริยธรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. …." ที่ได้ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้  

โดยมติครม.ระบุถึงการนำประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ไปบังคับใช้ดังนี้ 

"ให้นำร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองใช้บังคับกับบุคคลหรือผู้ปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษาหรือตำแหน่งอื่น ๆ ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 โดยอนุโลมด้วย"  

สำหรับสาระสำคัญของร่างประมวลจริยธรรมฯ มีจำนวน 9 ข้อ ดังนี้ 

1. กำหนดนิยามคำว่า “ข้าราชการการเมือง” หมายความว่า ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย 

2.กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่

4. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องกล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 

5. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องดำรงตนโดยเปิดเผย หรือให้ข้อมูลข่าวสารอันอยู่ในความรับผิดชอบของตนอย่างถูกต้องครบถ้วน และไม่บิดเบือนแก่ประชาชน

6. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ

7. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยต้องดำรงตน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

8. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าก้าวก่ายหรือแทรกแซงเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย

9. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ