นายกฯ ถก "ก.ตร."จันทร์นี้ รื้องานอาชญากรรมพิเศษเพิ่มจาก 10 เป็น 19 ศูนย์

26 ก.ย. 2564 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 17:37 น.

นายกฯ ถก “ก.ตร.”จันทร์นี้ พิจารณา 5 วาระ จับตารื้องานอาชญากรรมพิเศษ ดัน “รองผบ.ตร.- จเร”ทำหน้าที่ ผอ. ทดแทน "ที่ปรึกษา ตร." เหตุเหลืออายุราชการน้อยงานไม่ต่อเนื่อง เพิ่มจาก 10 เป็น 19 ศูนย์

วันนี้(26 ก.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ “ก.ตร.” ครั้งที่ 10/2564 มีวาระน่าสนใจ ดังนี้

 

1.ผลการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ

 

2.ด.ต.ธัญเกียรติ  (หวังดี) เสริฐดิลก อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

 

3.การขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายในห้วงที่มิได้ปฏิบัติราชการให้แก่ข้าราชการตำรวจ จำนวน 9 ราย

 

4.การแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรฐานกำหนดตำแหน่งกลุ่มสายงานป้องกันปราบปราม พ.ศ.2561

 

5.การเปลี่ยนแปลงการมอบหมายหน้าที่การบริหารราชการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ และงานนโยบายสำคัญของ ตร.และเรื่องอื่นๆ ถ้ามี

รายงานแจ้งว่า กรณีวาระที่ 5 การเปลี่ยนแปลงการมอบหมายหน้าที่การบริหารราชการศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมพิเศษและงานนโยบายสำคัญของ ตร. นั้น จากเดิมมีการกำหนดตำแหน่ง ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. (ยศ พล.ต.อ.เทียบเท่ารอง ผบ.ตร.) จำนวน 10 ตำแหน่ง/ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร.(ยศ พล.ต.ท.เทียบเท่า ผบช.) จำนวน 20 ตำแหน่ง/ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. (ยศ พล.ต.ต.เทียบเท่า ผบก.) รวมเป็นจำนวน 30 ตำแหน่ง

 

โดยระเบียบของ ก.ตร.กำหนดให้ ที่ปรึกษาพิเศษ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทั้ง 10 ศูนย์ ประกอบด้วย

 

1.ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

2.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 

3.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง 4.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และมือปืนรับจ้าง

 

5.ศูนย์ปราบปรามสินค้าทางน้ำ

 

6.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัวและป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์

 

7.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์

 

8.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

9.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติ

 

10.ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ปัจจุบันรูปแบบของอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ มีการเปลี่ยนไป ทาง ตร.จึงปรับเปลี่ยนชื่อศูนย์ฯ ตามอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสม จากเดิมที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่างๆ โดยหลักมีอายุราชการเพียงแค่ 6 เดือน ทำให้การปฏิบัติงานไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของศูนย์ต่างๆ ได้สัมฤทธิผล จึงเห็นควรให้เปลี่ยนผู้อำนวยการศูนย์มาเป็น รอง ผบ.ตร. และ จตช. แทนที่ปรึกษาพิเศษ ตร. มาเป็น รอง ผอ.ศูนย์ รวมถึงระดับผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิ ตามลำดับ จึงขอมติต่อที่ประชุม ก.ตร.ในครั้งนี้

 

สำหรับศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมพิเศษและงานนโยบายสำคัญของ ตร.ที่มีชื่อตามหน้างานให้เหมาะสมกับยุคปัจจุปัน มีถึง 19 ศูนย์ประกอบด้วย

 

1.ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.)

 

2.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.)

 

3.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศนม.ตร.)

 

4.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.)

 

5.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง (ศปอร.ตร.)

 

6.ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.)

 

7.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.)

 

8.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.)

 

9.ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.)

 

10.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)

 

11.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.)

 

12.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

 

13.ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.)

 

14.ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.ตร.)

 

15.ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) (ศบตอ.ตร.)

 

16.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและคนเข้าเมือง (ศปชก.ตร.)

 

17.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.)

 

18.ศูนย์บริหารงานสอบสวนคดีอาญา (ศส.ตร.)

 

19.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)