กฎเหล็ก กกต. หาเสียงอย่างไรไม่ให้เสี่ยงคุก ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง อบต.

12 ต.ค. 2564 | 02:00 น.

เลือกตั้ง อบต. 2564 กกต. เผย กฎเหล็ก-ข้อห้ามในการหาเสียง ทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย สรุปขั้นตอน -แนวทางปฏิบัติไว้ให้ครบที่นี่ เช็คเลย

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ นายก อบต.ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 11-15 เดือนตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 08.30น.-16.30น. และกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 

ขั้นตอนสำคัญหลังจากนี้ผู้สมัครจะได้ดำเนินการหาเสียงในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่กกต.กำหนดซึ่งล่าสุด สำนักงาน กกต. ได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการหาเสียงเลือกตั้ง การปิดประกาศและติดแผ่นป้ายของผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งในการหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีเนื้อหาสำคัญหลายประการ

นิยามของ ผู้สมัคร และผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งอบต.

ผู้สมัคร หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ผู้ช่วยหาเสียง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่ และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

ระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง สามารถหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบต. คือ วันที่ 1 ต.ค.2564 จนถึงวันที่ 27 พ.ย.2564 เวลา 18.00 น. 

การจัดทำประกาศหรือติดแผ่นป้ายการหาเสียงเลือกตั้ง

-มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร

-แผ่นป้ายหาเสียง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร

-สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวของผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ นโยบายของผู้สมัคร คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิต ไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจน

-กรณีการนำข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองข้างต้น หรือการนำภาพบุคคลเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น และไม่ขัดต่อมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และอาจนำภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วยก็ได้

จำนวนของประกาศ-แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจำนวนแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 3 เท่า ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจะต้องไม่เกินจำนวนที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนด

การปิดประกาศ-แผ่นป้ายการหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สมัครกระทำได้เฉพาะในสถานที่ รวมทั้งมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่ กกต. หรือผู้ซึ่ง กกต.มอบหมายกำหนด

หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 132 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

ข้อห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง 

1.ห้ามผู้สมัครดำเนินการ หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดดำเนินการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

2.ห้ามผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
  • แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้มีการระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจน
  • ใช้พาหนะต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้แจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
  • หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
  • ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามปกติ ประเพณีต่างๆ
  • หาเสียงเลือกตั้งโดยนำชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือภาพบุคคล โดยมิได้มีหนังสือให้ความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น
  • จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563