เปิดเหตุผล "บิ๊กตู่" ไม่ปรับครม.-ไม่ยุบสภา

13 ต.ค. 2564 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2564 | 16:50 น.

กระแสปรับครม. - ยุบสภา มีอย่างต่อเนื่อง แม้นายกฯปฏิเสธมาตลอด และยืนยันว่า การลงพื้นที่ของนักการเมือง เป็นเรื่องปกติ ทั้งเป็นช่วงที่ประชาชนเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  กับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์  พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี   ส่งผลให้เกิดรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)อย่างรุนแรง  แม้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)   จะมีความพยายามประสานรอยร้าว    แต่สังคมยังจดจ้องความเคลื่อนไหวของนายกฯอย่างใกล้ชิด   หลังมีเคลื่อนไหวจากนายกฯในการลงพื้นที่ติดตามน้ำท่วมด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  

                   

ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค.64) พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  หลังเสร็จจากการหารือนักข่าวถามเรื่อง ปรับครม. และยุบสภา   คำตอบที่ได้รับจากนายจุรินทร์ และนายอนุทิน ว่า นายกฯหารือเรื่องปัญหาน้ำท่วม ยังไม่มีสัญญาณปรับครม.
                 

"นายกรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงไปหลายครั้งแล้ว และพูดทำนองว่าไม่มีการยุบสภา หรือยังไม่มี เช่นนี้แล้วก็ต้องฟังนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้มีอำนาจยุบหรือไม่ยุบสภา ก็ต้องถือนายกรัฐมนตรีเป็นเกณฑ์ ส่วนที่พรรคการเมืองเริ่มลงพื้นที่กันแล้วนั้น ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราลงพื้นที่กันมานานแล้ว " นายจุรินทร์  กล่าว

    เปิดเหตุผล \"บิ๊กตู่\" ไม่ปรับครม.-ไม่ยุบสภา

 

หากย้อนจับคำพูด นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกฯ จะได้รับคำตอบที่ "บิ๊กตู่" ย้ำแล้วย้ำอีกว่า "ไม่ปรับครม. - ไม่ยุบสภา"                
               
                 

ประการแรก รัฐบาลต้องเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19  โดยนายกฯประกาศจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และการใช้ชีวิตของประชาชนใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากที่สุด 
                   
    

ประการที่สอง  ปัญหาน้ำท่วม เมื่อวันที่  5 ต.ค. ที่ผ่านมา นายกฯมีข้อสั่งการต่อ ครม.ถึงสถานการณ์อุทกภัย  ว่ายังไม่มีการปรับ ครม.รัฐบาลยังทำงานร่วมกัน ตามปกติ ขอบคุณ ครม.ร่วมทำงานด้วยกันกว่า 2 ปี 3 เดือนยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคง ทำงานร่วมกันแก้ไขโควิด-19 น้ำท่วม ความยากจน  นายกฯ ยอมรับว่ามีความกังวลและเป็นห่วงประชาชนที่ประสบภัยปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ แต่ได้มีการเตรียมการไว้ให้พร้อมแล้ว ทั้งการช่วยเหลือและเยียวยา   โดยมีคำยืนยันจากโฆษกรัฐบาลว่า 
    
             

 "การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องปกติตามภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงได้รับทราบถึงความเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่ท่านนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่นั้นแปลว่าจะต้องมีการยุบสภา ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ไม่อยากให้หยิบยกการลงพื้นที่ของนายกฯ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมมาเป็นประเด็นทางการเมืองว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการยุบสภาฯ ยืนยันว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระ และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องยุบสภาฯ เนื่องจากขณะนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี"
    
  

 ประการที่สาม นายกฯขออยู่ทำงานต่ออีก 5 ปี เพื่อติดตามคอยดูผลการทำงานของรัฐบาล และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะส่งผลอย่างชัดเจนภายใน 5 ปี

เปิดเหตุผล \"บิ๊กตู่\" ไม่ปรับครม.-ไม่ยุบสภา

ประการที่สี่   ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตั้งแต่วันนี้-15 ต.ค. 2564 โดยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย. 2564   จากนั้นจะเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา  
                

 ประการที่ห้า การยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนี้นั้นจะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องนำมาใช้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งงบประมาณเหล่านี้น่าจะนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ที่วันนี้ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไปจนครบวาระ จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ที่ตัดสินเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป  

     เปิดเหตุผล \"บิ๊กตู่\" ไม่ปรับครม.-ไม่ยุบสภา

ประการที่หก  ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปค 2565 หรือ Asia Pacific Economic Cooperation ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไทยกำลังจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุม เอเปคในปี 2565 เป็นการรับช่วงจากประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.นี้

 

ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2565 ไทยจะผลักดันวาระต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะ BCG Economy ในระดับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้การฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด -19จะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำโลกจะใช้โอกาสนี้ในการประชุมหารือ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพและเป็นเวทีระดับนานาชาติ

    

ยังไม่นับรวมการติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลตามนโยบายด้านต่างๆของรัฐบาล ตามที่ประกาศเอาไว้