“กรณ์”ลุยสงขลา เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครส.ส. เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

19 ต.ค. 2564 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2564 | 14:14 น.

“กรณ์” นำ ‘พรรคกล้า’ ลุยสงขลา ยึดหัวหาด “เมืองเศรษฐกิจ” ภาคใต้ เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง พร้อมเปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครนักการเมืองรุ่นใหม่

วันที่ 19 ต.ค. 64 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วย ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี ผู้อำนวยการพรรค นายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์-ภาคใต้  นางสาวนัฏฐิมา วิชยภิญโญ เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นำทีมเปิดการประชุมจัดตั้งตัวแทนพรรคหลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลา

 

พร้อมเปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครนักการเมืองรุ่นใหม่ หลากหลายอาชีพร่วมทีม “ผู้กล้า-สงขลา” ได้แก่ 1. นายธัชพล วิบูลย์พันธุ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร หาดใหญ่ 2. ดร.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ อาจารย์ด้านการตลาดหลายมหาวิทยาลัยใน จ. สงขลา 3. นายสมพร หาญณรงค์ นักสื่อสารมวลชน คนสิงหนคร 4. นายพงศธร สุวรรณรักษา ทนายอาสารุ่นใหม่ สู้เพื่อแรงงานย่านสะเดา และคลองหอยโข่ง

 

โดยหัวหน้าพรรคกล้า ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางเศรษฐกิจ ระบบคิดและไอเดียกับชาวสงขลา ผู้ประกอบการ ตัวแทนหอการค้า YEC สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงตัวแทนภาคเอกชนขนาดเล็ก พร้อมทั้งย้ำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับโอกาสการทำมาหากิน โอกาสทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพของเมือง ของภาคใต้โดยเฉพาะ จ.สงขลา

 

“จ.สงขลา มีทุนเดิมที่เข้มแข็ง ทั้งการเป็นจังหวัดชายแดนที่ติดกับ 2 ประเทศ ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในอาเซียนอย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงจุดเด่นในการเป็นพื้นที่การผลิต และอุตสาหกรรม เป็นเมืองการค้าและการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้งระบบส่งออกสินค้าที่ผลิตและแปรรูปเองได้หลัก ๆ ไป จีน วันนี้ต้องมาตั้งโจทย์ว่า มีทุกอย่างพร้อมแบบนี้ อะไรที่ฉุดรั้งสงขลาอยู่” กรณ์ กล่าว

“กรณ์”ลุยสงขลา เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครส.ส.  เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังได้ชูหลักคิด ’Songkhla - Seamless South’ คือการบริหารเศรษฐกิจและการทำธุรกิจสำหรับหัวเมืองใหญ่ที่เชื่อมระหว่างประเทศแบบ “ไร้รอยต่อ” และทำ Travel Bubble (การเปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้) กับ สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อคืนชีพเศรษฐกิจหาดใหญ่ รวมถึงแรงงานภาคบริการซึ่งเป็นชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ย้ำเรื่องการขยายศักยภาพจากจุดเด่นของเมืองคือ อุตสาหกรรมจากการแปรรูปไม้ยาง น้ำยาง ประมง ที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจกว่าครึ่งของจังหวัด รวมไปถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง ระบบรางสำหรับขนของไปขาย และท่าเรือที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งออกสินค้าตรงไปยังจีน คือสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน 

 

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ มองว่า ปัญหาที่ดินที่ราคาปล่อยเช่า (yield) ต่ำ ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน ปัญหาหนึ่งคือ สัดส่วนของพื้นที่ราชการ กว่า 40% เป็นที่ดินราชพัสดุสูงมาก ที่ราชการถือครองไว้เฉย ๆ ไม่ได้นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อประชาชนและท้องถิ่นโดยภาพรวม ทั้งที่พื้นที่โซนนี้สามารถขยายศักยภาพของคนในท้องถิ่น ได้หาแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้แลกเปลียนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยนายสมบัติ เหาตะวานิช ตัวแทนนักธุรกิจแปรรูปไม้ยางพารา กล่าวว่า เศรษฐกิจสงขลา ถูกถ่วงหนักมากด้วยระบบราชการ การจะสร้างโอกาสให้สงขลา ต้องมองภาพรวมเป็นก้อนเดียวกันทั้ง 6 จังหวัดคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงการมองสเกลการผลิตและส่งออกในภาพเดียวกันเป็นก้อนใหญ่ 

“กรณ์”ลุยสงขลา เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครส.ส.  เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ขณะที่นายศิวัฒน์ สุวรรณวงศ์ นายกสมาคมโรงแรมสงขลา ก็เห็นว่า จ.สงขลาขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้าง การสร้างเมกะโปรเจคต์ด้านสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยวหายไป คนสงขลามีคนเก่งเยอะมาก แต่ไม่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเพราะขาดโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจโต 

 

สอดคล้องกับ นายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสงขลาที่มองว่า โมเดลหาดใหญ่ Sandbox สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวรอบใหม่ของเมืองหาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเราไม่สามารถพึ่งพารูปแบบเดิมอย่างเดียวได้ นอกจากนี้การพัฒนาสาธารณูปโภคก็ต้องออกแบบรองรับกลุ่มกำลังซื้อเจนใหม่จาก จีน และมาเลเซียด้วย


ด้านนายชัยวัฒน์ ประยงค์มรกต อดีตประธาน YEC สงขลา และ นายดลภัทร มณีแสง นักธุรกิจอสังริมทรัพย์ ก็แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า คนรุ่นเก่าไม่รับความรู้  ไม่เปิดโอกาสให้รุ่นใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ควรหาโมเดลธุรกิจใหม่ให้หาดใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภาษี เพื่อให้การท่องเที่ยวของภาคใต้มีความเจริญอย่างยั่งยืน จากหลากหลายจุดแข็งที่ จ.สงขลา

 

สำหรับ จ.สงขลา มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) กว่า 2.5 แสนล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายชายแดนปีละ 6 แสนล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าจังหวัดถึงกว่า 40% ของ GPP ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ - ทะเลสาป น้ำตก ภูเขา, แหล่งท่องเที่ยวเขิงสร้างสรรค์ - ธุรกิจใหม่ในหาดใหญ่, แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม - เมืองเก่า สงขลา สิงหนคร และแหล่งท่องเที่ยว Food Destination นอกจากนี้ยังเริ่มมีการค้ายุคใหม่  E-Commerce New Products to sell กำลังเริ่มเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว