“วิษณุ”ชี้นายกฯตั้งประธานวิปรัฐบาล ตามใจชอบไม่ได้

03 พ.ย. 2564 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 14:28 น.

“วิษณุ” เผย นายกฯ ตั้งประธานวิปรัฐบาลตามใจชอบไม่ได้ พรรคร่วมต้องเสนอชื่อมา แนะเป็นส.ส.จากพรรคแกนนำ เคยใช้คนนอกมีปัญหาการประสานงาน

วันที่ 3 พ.ย. 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม หรือ วิปรัฐบาล ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในสภา เพราะสามารถเปลี่ยนกันได้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และตามขั้นตอนที่ประชุมพรรคจะเป็นผู้เสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะตั้งตามใจชอบไม่ได้ เพราะหากตั้งไปแล้ว ไม่สามารถประสานใครได้จะเกิดปัญหา ซึ่งในอดีตเคยมีการลองเอาคนนอกไปเป็นประธานวิปรัฐบาล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมในการประสานงานในสภาฯ ได้ ตอนหลังจึงเปลี่ยนให้เลือกจาก ส.ส. ในสภาฯ
                    
 

“ในอดีตโบราณ ด้วยความที่ถือว่าประธาน และวิปฯ เป็นกรรมการของรัฐบาล เมื่อก่อนก็ใช้คนของรัฐบาลส่งเข้าไป ก็ได้ประโยชน์ของรัฐบาล แต่ไม่ได้ประโยชน์ต่อการทำงาน ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนเป็น ส.ส. ตามที่ ส.ส. เสนอมานั้นแหละ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เรื่องนี้”
                    

 

นายวิษณุ ยังระบุว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ แต่หากเป็นคนจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็จะดีกว่า เเต่เชื่อว่าการยังไม่มีการแต่งตั้งเวลานี้ จะไม่กระทบกับการทำงาน เพราะยังมีรองประธานวิปฯ ทำงานอยู่
                    

 นายวิษณุ ยังชี้แจงถึงเรื่องการให้มาประชุมวิปรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งการ โดยสมัยก่อนวิปฯ เป็นคณะกรรมการของรัฐบาล จึงต้องประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะต้องมีข้าราชการเข้ามาชี้แจงเสนอกฎหมาย คล้ายกับประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นพอมีรัฐสภาใหม่ จึงไปประชุมที่รัฐสภาซึ่งสะดวกกว่า
                     

 

“วิษณุ”ชี้นายกฯตั้งประธานวิปรัฐบาล  ตามใจชอบไม่ได้

 เมื่อถามว่าการเปลี่ยนประธานวิปรัฐบาลกลางคัน จะมีผลกระทบต่อเสียงในสภาในการโหวตกฎหมายสำคัญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกันของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว
                       

ถามต่อว่า มีช่องทางในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ ที่ให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่เมื่อมันจบไปแล้ว ก็แปลว่าศาลคิดแล้ว ถึงไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น แต่ใครจะดิ้นรนต่อไปก็ทำได้ อีกทั้งนายวิรัช ยังสามารถเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนคนนอกได้
                       

ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งในนามพรรคได้ นายวิษณุ กล่าวว่า สมัยก่อนทำได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะบางคนไม่ได้สังกัดพรรค แต่จริงๆไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากเห็นชอบร่วมกันก็แก้ไขได้ แต่คิดว่าสำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. รอบนี้คงไม่ทัน ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่แน่ใจเพราะไม่รู้ว่ามีเลือกตั้งเมื่อไร เพราะถ้าแก้กฎหมายนี้ต้องมีการเสนอกันทีละสภา ซึ่งไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สามารถเสนอ 2 สภาร่วมกันพิจารณาได้ แต่ขณะนี้มีร่างกฎหมายนี้อยู่ในสภา ถ้าจะทำก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณา