วันที่ 11 พ.ย. 2564 จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คำร้องที่ นายณัฐพร โตประยูร ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ จากการชุมนุมปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค.63 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ต่อมา ศาลรัฐธรรมมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ น.ส.ปนัสยา และนายภาณุพงศ์ มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เจตนาละเมิดกฎหมาย จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา 49
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจาก เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และ แกนนำราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ลูกหลานชาวนา นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่มีแค่ไมค์ รถปราศรัย และแอคเคาต์เฟซบุ๊ก ได้กระทำการล้มล้างการปกครอง ด้วยคำพูด ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง มันก็คงไม่มีวันนี้
อีกด้านหนึ่งมีมุมมองจาก รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า...การรายงานข่าวของสื่อมวลชน และการวิพากษ์วิจารณ์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการกระทำของนาย ภานุพงษ์ จาดนอก นางสาว ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนาย อานนท์ นำภา ว่าเข้าข่ายเป็นการใชัสิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจทำให้ผู้ติดตามข่าวเข้าใจไขว้เขวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้ว่าเพียงข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็เรียกได้ว่าเป็นการล้มล้างได้แล้ว แต่ศาลมิได้พิจารณาเฉพาะข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ศาลพิจารณาการปราศรัยและพฤติกรรมทั้งหมดของทั้ง 3 คน ภาพรวมของงานธรรมศาสตร์จะไม่ทน รวมทั้งพฤติกรรมต่อๆมาหลังจากวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ตลอดจนหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องนำมายื่นต่อศาล ตัวอย่างเช่นในขณะที่ นางสาว ปนัสยาอ้างว่าต้องการเพียงปฏิรูป ไม่ใช่ล้มล้าง แต่ขณะปากพูดว่าปฏิรูป แต่บนเวทีมีข้อความขึ้นบนจอด้านหลังว่า
"เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ" สิ่งที่ศาลพยายามดูก็คือ "เจตนา" ซึ่งจะต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ทั้งคำพูด ทั้งการกระทำทั้งหมดว่า เข้าข่ายมีเจตนาล้มล้างหรือไม่ ซึ่งศาลก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า เข้าข่าย ใครมีเจตนาอย่างไร ต้องการอะไร ตัวเองก็รู้อยู่แก่ใจ ใครๆก็รู้ว่า เป้าหมายสูงสุดที่ขบวนการนี้ก็คือ การไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย ยอมรับเสียเถิด