วันที่ 16 พ.ย.2564 พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภาคนแรก ที่ลุกขึ้นอภิปรายในเวทีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยพูดถึงข้อเสนอให้มีสภาเดียว ว่า เป็นฉบับที่ให้อำนาจล้นฟ้า แก่ ส.ส. ซึ่งการมี 2 สภา เพื่อให้สภาสูงสามารถยับยั้งกฎหมายสภาล่างได้ โดยยกตัวอย่าง สมัยเป็น ส.ว. ปี 2551 ก็เคยมีการยับยั้งกฎหมาย ที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรก็เห็นด้วยตามวุฒิสภา
การกำหนดเช่นนี้จะทำให้ไม่เกิดการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลในสภานิติบัญญัติ พร้อมอภิปรายภาพรวมระบบรัฐสภาว่า มี 2 แบบคือ สภาเดี่ยวและสภาคู่ โดยสภาเดี่ยวมักพบเห็นในประเทศที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้สภานั้นสามารถวางนโยบายในการบริหารประเทศได้ และเป็นตัวแทนของประชาชน
ขณะที่ระบบรัฐสภาที่มี 2 สภา จะมีกลไกคือ ให้สภาล่างทำหน้าที่ในการตราและบัญญัติกฎหมาย ส่วนสภาสูงทำหน้าที่ในการถ่วงดุลตรวจสอบและกลั่นกรองอีกชั้น จึงมีข้อพิจารณาของระบบสภาเดี่ยวว่าอาจมีการตรา และบังคับใช้กฏหมายได้ตามอำเภอใจ ขณะที่ระบบ 2 สภา จะทำให้สภาที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อไม่ให้การบัญญัติกฎหมายเป็นไปโดยรีบร้อน ขาดความรอบคอบ นอกจากนี้สภาที่ 2 ทำหน้าที่ในการส่งผ่านอำนาจของสภาที่ 1 เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม
พลเอก เลิศรัตน์ ยังได้หยิบยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ขึ้นมาอภิปราย เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้มีวุฒิสภา เรียกว่า พฤฒิสภา 80 คน จากนั้นฉบับปี 2492 ก็กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา 100 คนที่ มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง
ส่วนฉบับปี 2540 ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน กำหนดให้มี 2 สภา ขณะที่ฉบับปี 2560 มีการกำหนดจำนวนและที่มา ซึ่งผู้ร่างได้พยามคิดแล้วว่า จะมีที่มาของการทำหน้าที่ในการยับยั้งกลั่นกรอง กฎหมายได้ระดับหนึ่ง เห็นได้จากการกำหนดให้มีการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 10 คน ซึ่งการให้เลือกกันเองนั้น มองว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างยากที่จะล็อบบี้ได้ จึงขอให้ประชาชนที่เสนอกฎหมายได้เห็นถึงประโยชน์ของการมีสภาสูงด้วย